โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ระบายน้ำเพื่อเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนผ่านอาคารระบายน้ำล้น (Service Spillway)
จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้คาดหมายสถานการณ์ มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 30 กันยายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2567 ในปริมาณปานกลางถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขามีแนวโน้มที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพิ่มขึ้นจากเดิมและล้นข้ามอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ในอัตราสูงถึง 150 – 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ไม่สามารถควบคุมได้ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และส่งผลกระทบกับเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ตอนล่าง และจากการพิจารณาสถานีวัดน้ำในสถานีต่างๆ ในลำน้ำปิงมีปริมาณน้ำที่ลดลง ทำให้มีช่องว่างในการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลงสู่ด้านท้ายน้ำ นั้น
วันอาทิตย์ที่ 29กันยายน พ.ศ.2567 เวลา 07.00 น. นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล พร้อมด้วย พร้อมด้วยนายธีรัตน์ พันธุประกิจ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม นายพัชรพงษ์ สาเขตร์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 นายวงศกร ขัดทะเสมา หัวหน้าฝ่ายช่างกล และเจ้าหน้าที่โครงการ ดำเนินการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำล้น (Service Spillway) ในอัตราประมาณ 110 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะระบายน้ำจนถึงวันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ.2567 เวลา 17.00 น. รวมระยะเวลา 34 ชั่วโมง
เพื่อเป็นการเตรียมพื้นที่รองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการระบายน้ำดังกล่าวจะไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำพร้อมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่โครงการลงพื้นที่ตรวจสอบสถาณการณ์น้ำประจำจุดต่างๆ ดังนี้ จุดที่ 1 สะพานบ้านดง-บ้านใหม่ จุดที่ 2 ลำน้ำงัด กม.0+300 จุดที่ 3 สะพานบ้านดง และจุดที่ 4 จุดบรรจบลำน้ำงัดกับลำน้ำปิง เพื่อสังเกตุปริมาณน้ำว่ามีผลกระทบต่อพื้นที่หรือมีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง เพื่อปรับลดปริมาณการระบายน้ำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าวรวมไปถึงสองฝั่งลำน้ำงัดและแม่น้ำปิง อีกทั้งยังให้เฝ้าติดตามสถาณการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.