Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

แม่ทัพภาคที่ 3 /ผอ.ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.เปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนและดับไฟป่า ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่า พร้อมมอบเครื่องเป่าลมเพื่อสนับสนุนกำลังพล

แม่ทัพภาคที่ 3 /ผอ.ศอ.ปกป.ภาค 3 สน.เปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนและดับไฟป่า ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่า พร้อมมอบเครื่องเป่าลมเพื่อสนับสนุนกำลังพล

ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า เผยผลแก้ปัญหาไฟป่า-หมอกควันเหนือ ปี 2568 สามารถลดจุดความร้อนลงร้อยละ 19 แต่พื้นที่เผาไหม้ยังพุ่งสูงกว่า 1.5 ล้านไร่ พร้อมมอบเครื่องเป่าลมสนับสนุนการปฏิบัติงานของกำลังพลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 เป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนและดับไฟป่า ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่า พร้อมมอบเครื่องเป่าลมเพื่อสนับสนุนกำลังพลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ประจำปี 2568 โดยมี พลตรี ชายแดน กฤษณสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 3 นายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ,นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 สรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และ PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 ถึง 28 เมษายน 2568 ซึ่งมีตัวชี้วัด 3 ด้านประกอบด้วย

สถานการณ์ด้านจุดความร้อนลดลงจากปี 2567 จำนวน 13,858 จุด คิดเป็นร้อยละ 19.54 แต่ยังมี 9 จังหวัดที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน ตาก และอุตรดิตถ์ โดยจุดความร้อนที่พบรวม 57,079 จุด ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 24,107 จุด และป่าสงวนแห่งชาติ 22,581 จุด ซึ่งยังสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ว่าในพื้นที่ป่าจะลดลงให้ได้ร้อยละ 25 ขณะที่พื้นที่เกษตร เช่น นาข้าว ข้าวโพด และอ้อย ต้องลดลงร้อยละ 30 โดยพบว่าพื้นที่ป่าและนาข้าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สถานการณ์ด้านพื้นที่เผาไหม้ พบว่าตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 30 มีนาคม 2568 มีพื้นที่ถูกไฟเผาไปแล้วถึง 8,680,870 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ถึง 1,505,490 ไร่ หรือร้อยละ 17.34 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ตาก นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่เกษตรและเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 90.34 และ 53.22 ตามลำดับ

สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ยังน่าเป็นห่วง โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีค่าเฉลี่ยสูงสุดถึง 304.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเกินค่ามาตรฐานติดต่อกันเกิน 9 วัน ทั้งนี้ จังหวัดน่านมีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานสูงมากที่สุด 121 วัน รองลงมาคือพิษณุโลก 94 วัน และอุทัยธานี 88 วัน

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ได้บูรณาการกำลังพลโดยกองทัพภาคที่ 3 มาออกปฏิบัติการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกและทำลายพื้นที่ป่าไม้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ไฟป่ากว่า 885 ครั้ง และได้จัดชุดลาดตระเวน ออกลาดตระเวน สร้างการรับรู้ ปลูกจิตสำนึก และดับไฟป่า ร่วมกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 12 กลุ่มป่าหลัก 73 ป่าย่อย จำนวน 208 ชุด รวม 1,070 นาย ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม รวมถึงการปรับแผนการฝึกตามวงรอบประจำปีในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซากไปจำนวน 17,892 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการใช้กลไกของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ปฏิบัติการด้านการดับไฟไหม้-ไฟป่า การรณรงค์สร้างการรับรู้ การลาดตระเวนป้องการเผาป่า การทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า การบังคับใช้กฏหมาย การสร้างฝายชะลอน้ำ การใช้อากาศยานดับไฟป่า และผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ ไปจำนวน 36,630 ครั้ง

สำหรับด้านการใช้อากาศยาน ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองภาค 3 ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่า 4 รูปแบบ ประกอบด้วย ระบบ Sensor หรือการลาดตระเวน) โดยใช้อากาศยานของกองทัพอากาศ / และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4 ลำ บินลาดตระเวนค้นหากลุ่มจุดความร้อนในพื้นที่ป่าภาคเหนือ และป่ารอยต่อระหว่างจังหวัดไป 65 เที่ยวบิน, ระบบ Shooter หรือดับไฟป่า) ใช้อากาศยานของกองทัพบก / กองทัพอากาศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวม 8 ลำ บินทิ้งน้ำ ไป 2,297 เที่ยว ปริมาณ 2,341,000 ลิตร ขณะเดียวกัน ยังมีการใช้ระบบ Sensor เพื่อตรวจจับจุดความร้อน 65 เที่ยวบิน และระบบ Inversion หรือการดัดแปรสภาพอากาศจากกรมฝนหลวงกว่า 700 เที่ยวบิน รวมถึงการเฝ้าระวังด้วยโดรน IR รุ่น Matrice 300 ที่บินตรวจการณ์ในพื้นที่เชียงใหม่ 74 ครั้งด้วย

แม่ทัพภาคที่ 3 ย้ำว่าการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ต้องดำเนินต่อเนื่องควบคู่กันไป ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างจิตสำนึก และการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อเป้าหมายการลดไฟป่าอย่างยั่งยืนในภาคเหนือ ซึ่งจากผลสำเร็จใจการปฏิบัติงานในปีนี้จะนำไปถอดบทเรียนและปรับใช้ในปีต่อไป.