กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการเกษตรตามยุทธศาสตร์ชาติด้านเกษตรอัจฉริยะ
.
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์เครือข่าย เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลท่าดินดำ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ดนัย มีชูเวท รองประธานฯ ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน โดยมีนายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ให้การต้อนรับ และรายงานภาพรวมเกี่ยวกับเกษตรกรรมของจังหวัดลพบุรี และมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) เพื่อขยายผลโดย Young Smart farmer ไปสู่กลุ่มเกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปขยายผลสู่ชุมชนในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตการตลาดและการบริหารจัดการกลุ่มโดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกรและมีการต่อยอดจากการนำพิมพ์เขียวระบบ HandySense มีการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะสู่ภาคการปฎิบัติ ผ่านการอบรมภายใต้โครงการต่าง ๆ มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงการแดชบอร์ด การคำนวณแปลงอัจฉริยะ สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้สามปี มีการผลิตตู้อบความเย็นเยือกแข็ง โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โครงการดังกล่าวเป็นการคิดค้นและพัฒนาต่อยอดโดยเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่
.
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะให้มีการผลักดันองค์ความรู้ที่จะสามารถจะพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่าน Young Smart Farmer ซึ่งร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน ร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะไปสู่ภาคการปฏิบัติได้จริง
.
จากนั้น คณะฯ ลงพื้นที่ ณ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป เพื่อเลี้ยงสัตว์ ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นการใช้เครื่องสับต้นข้าวโพดและฝักข้าวโพดอ่อนให้มีขนาดเล็กลงและอัดก้อนเพื่อนำมาหมักเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ จากเดิมเป็นการตัดข้าวโพดแล้วนำมาสับ ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ จึงได้มีการหาวิธีเพื่อลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยวแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ วิสาหกิจชุมชนจึง เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าทางการเกษตรกับกรมปศุสัตว์ในการจัดหาแหล่งทุนเพื่อซื้อเครื่องมือสับต้นข้าวโพดและฝักข้าวโพดอัดก้อน แต่ยังพบปัญหาการอัดก้อนที่มีน้ำหนักมาก 800 กิโลกรัม ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้จัดหาแหล่งทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องอัดก้อนที่มีขนาดเล็กขนาด 400 กิโลกรัม ให้ตรงตามความต้องการของตลาด วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ยังเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรที่น่าสนใจอีกด้วย
.
โดยคณะกรรมาธิการได้เสนอแนะให้ภาครัฐควรส่งเสริมทำข้าวโพดช็อปเพื่อพยุงราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ให้ตกต่ำและเป็นการส่งเสริมอาชีพในชุมชนด้วย นอกจากนี้ ควรมีการบูรณาการความร่วมมือกับฝ่ายท้องถิ่น กรมป่าไม้ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินของวิสาหกิจชุมชน เพื่อประกอบการทำมาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน