กมธ.อุดมศึกษาฯ ศึกษาดูงาน “การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
วันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 3 ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับ
.
โอกาสนี้ คณะได้รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมผลการดำเนินภายใต้นโยบาย “NSTDA Core Business” ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้าน Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปัจจุบันมีการขยายผลสู่จังหวัดมากกว่า 14 จังหวัดทั่วประเทศ 2) ด้าน FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นเม็ดเงินมหาศาลด้วยความได้เปรียบของไทยที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ขณะที่ทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารโลก มุ่งไปสู่อาหารใหม่หรืออาหารฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน 3)
ด้าน Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มบริการการแพทย์ดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนในเรื่องของความแออัดของหน่วยบริการสาธารณสุข โดยร่วมมือกับ สปสช. ที่จะพัฒนาการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น และ 4) ด้าน Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มที่ให้บริการ Digital transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจรเพื่อแก้ไขปัญหาภาคการผลิตของไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นศูนย์กลางภาคอุตสาหกรรมของเอเชีย
.
คณะกรรมาธิการฯ ได้แสดงความชื่นชมผลการดำเนินงานและมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปขยายผลให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากนั้น เยี่ยมชมนิทรรศการการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ เพื่อยกระบบอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากลโดยบุคลากรมืออาชีพ และเข้าชมห้องปฏิบัติการทดสอบ EMC เป็นห้องทดสอบการการเเพร่กระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมืออุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม โดยจะได้นําข้อมูลที่ได้รับนําไปสู่การจัดทําข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน