องคมนตรีตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่นราธิวาส
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2562 พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ อาคารบังคับน้ำกลางคลองมูโนะ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฯ และลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมอาคารบังคับน้ำกลางคลองมูโนะ และสถานีสูบน้ำโคกกูแว
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลกฯ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. 2517 เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน ป้องกันน้ำเค็มในฤดูแล้งและส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการ ซึ่งกรมชลประทาน แบ่งการดำเนินงานโครงการฯ เป็น 3 ส่วน
ได้แก่ 1. งานระบายน้ำมีการขุดคลองระบายน้ำมูโนะ ยาว 15.6 กิโลเมตร รวมทั้งขุดลอกคลองระบายน้ำโต๊ะแดง คลองระบายน้ำโคกไผ่ และคลองลาน รวม 36.095 กิโลเมตร และคลองระบายน้ำสายซอยต่างๆ เพื่อช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่โครงการฯ และรอบขอบพรุโต๊ะแดงบางส่วนให้ไหลลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลกได้เร็วขึ้น 2.งานป้องกันน้ำท่วม โดยการสร้างคันกั้นน้ำฝั่งซ้ายแม่น้ำสุไหงโก-ลก ถึงประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง และคันกั้นน้ำจากประตูระบายน้ำโต๊ะแดงเลียบฝั่งแม่น้ำโก-ลก ชนกับคันกั้นน้ำสายเกาะสะท้อน รวมความยาว 30.853 กิโลเมตร และ 3.ระบบป้องกันน้ำเค็ม โดยก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มและอาคารประกอบรอบพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้โครงการฯ สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกรวม 17,150 ไร่ ช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 110,000 ไร่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมรักษาระดับน้ำในพรุโต๊ะแดง พื้นที่ประมาณ 125,000 ไร่ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและช่วยรักษาระบบนิเวศของพรุโต๊ะแดงอีกด้วย
ต่อมาองคมนตรีและคณะฯ ได้เดินทางไปยังแปลงนาบ้านโคกอิฐ-โคกใน เพื่อเยี่ยมชมโรงสีข้าวกลุ่มข้าวซ้อมมือโคกอิฐ-โคกใน และรับฟังบรรยายสรุปผลการขยายผลการพัฒนาอาชีพการทำการเกษตรให้กับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ดำเนินการวางแผนการจัดระบบอนุรักษ์ดินในที่ลุ่ม ร่วมกับการนำเทคโนโลยีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดที่ศึกษาจนได้ผลดีแล้ว ไปดำเนินการถ่ายทอดสู่พื้นที่เกษตรกร ปัจจุบัน ราษฎรในพื้นที่สามารถปลูกข้าวได้และให้ผลผลิตสูงถึง 41-50 ถังต่อไร่ จากที่ไม่เคยได้รับผลผลิตเลยจนมีข้าวพอกินและเหลือขาย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 43,174 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.6 จากนั้นองคมนตรีได้มอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและพบปะราษฎรในพื้นที่โครงการฯ เพื่อซักถามความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ
ต่อมาเวลา 13.30 น. องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังโครงการจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรบ้านบาวงเกาะโล๊ะโหนด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านบาวง หมู่ที่ 2 ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อรับฟังบรรยายสรุปภาพรวม และติดตามผลการดำเนินงาน ซึ่งโครงการฯดังกล่าวเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พิจารณาจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรช่วยเหลือราษฎรบนเกาะโล๊ะโหนด บ้านบาวง เมื่อครั้งเสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ – เกษตรมูโนะ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2546 ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำขนาดเล็ก พร้อมคลองส่งน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และอาคารประกอบในคลองส่งน้ำ จำนวน 11 แห่ง ปัจจุบันโครงการฯสามารถจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรเกาะโล๊ะโหนด บ้านบาวง จำนวน 33 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 139 ไร่ ทั้งนี้ราษฎรยังได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น มีสมาชิก จำนวน 25 คน สามารถปลูกข้าวได้ 2 ครั้งต่อปี ผลผลิตเฉลี่ย 300 กิโลกรัมต่อไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวซีบูกันตัง ข้าวหอมกระดังงา และหอมปทุม จากนั้น องคมนตรีได้ลงตรวจสภาพพื้นที่โครงการฯ พร้อมพบปะราษฎรและผู้อยู่ในพื้นที่รับประโยชน์ในโครงการ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ