29 มิถุนายน 67 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า จากกรณีปรากฏข่าวเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งถูกกระแสไฟฟ้าช็อต เนื่องจากมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากตู้กดน้ำดื่ม จนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครต้องการจะให้เกิด และถือเป็นอุทาหรณ์ที่สำคัญ ซึ่งภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวกระทรวงมหาดไทย โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งสั่งการด่วนให้ทุกจังหวัดประสานการไฟฟ้านครหลวง (MEA) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันอาชีวะ และภาคีเครื่อข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้งตู้กดน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุที่อาจก่อให้เกิดอันตราย แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียน
จังหวัดร้อยเอ็ดได้ เน้นย้ำให้นายอำเภอทุกอำเภอ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดร้อยเอ็ดและสาขา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำไฟฟ้าในทุกโรงเรียนของทุกอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมเจ้าหน้าที่และบุคลากรลงพื้นที่ตรวจสอบตู้กดน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในโรงเรียน ตามข้อสั่งการของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดช่วยดำเนินการระดมสรรพกำลังในพื้นที่เข้าตรวจสอบสภาพตู้น้ำไฟฟ้าในโรงเรียนต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักเรียน โดยขณะนี้ยังไม่พบตู้น้ำที่เกิดความชำรุดหรือไฟฟ้ารั่ว หลังจากนี้จังหวัดร้อยเอ็ด จะได้เร่งปูพรมให้มีการตรวจสอบให้แล้วเสร็จโดยและครบถ้วนทุกโรงเรียนและสถานศึกษาครบทุกแห่งต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตู้กดน้ำเย็นในโรงเรียน เป็นอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานที่ควรติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนทุกคนอย่างเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน ซึ่งสถานที่ตั้งควรอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย และแหล่งขยะมูลฝอย ในส่วนการติดตั้งตู้กดน้ำเย็น ก็ต้องมีมาตรฐานในการติดตั้ง มีความมั่นคงแข็งแรง มีระบบป้องกันภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หรือ ลัดวงจร โดยการติดตั้งสายดินบริเวณพื้นที่ตั้งต้องไม่เป็นที่ที่มีน้ำขัง หรือ สกปรก ต้องมีการระบายน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน และมีการทำความสะอาดบริเวณที่ตั้งของตู้ทำน้ำเย็นเป็นประจำทุกวัน แท้งก์น้ำต้องมีการปกปิด หรือ มีฝาปิด เพื่อควบคุมป้องกันการปนเปื้อนจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจเช็คสภาพอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง มีปฏิทินในการตรวจเช็ค จากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ นั้นคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และสาขา ทั้งนี้ หากบุคลากรในโรงเรียนหรือสถานศึกษา สังเกตได้ว่าอาจมีการรั่วของไฟฟ้า ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ให้มาตรวจสอบทันที โดยสารถโทรสายด่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA 1129
สมนึก บุญศรี รายงาน