พะเยา – แล้งหนักอ่างฯท่าจำปีวิกฤตเหลือน้ำ 10%ขณะที่ ผวจ.ตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง///ปัณณวิชญ์ อยู่ดี พะเยา//0636329479
สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพะเยายังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตุ้ม ตำบลท่าจำปี อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เริ่มแห้งขอด โดยมีต้นหญ้า และไมยราบยักษ์ ขึ้นปกคลุมบริเวณรอบอ่าง ขณะที่น้ำซึ่งเหลืออยู่เพียงบริเวณหน้าสปริงเวย์เท่านั้น ส่วนบริเวณเหนืออ่างสามารถมองเห็นพื้นที่ป่าที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ได้น้ำได้อย่างชัดเจน
นายพิจิตร อ้อยลี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าจำปี เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ เหลือเพียง 10 % จากความจุของอ่างเก็บน้ำ 3,200,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเมื่อช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ซึ่งฝนตกน้อยกว่าทุกปีที่ ทำให้กักเก็บน้ำไว้ไม่ได้ ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ 11 หมู่บ้าน ไม่สามารถใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ บ่อปลากว่า 200 บ่อแห้งขอด และทำนาปรังไม่ได้
ทั้งนี้คาดว่าเมื่อถึงต้นเดือนพฤษภาคม หากฝนไม่ตก ปริมาณน้ำในอ่างอาจจะแห้งขอดจนไม่มีน้ำหลงเหลือเพราะสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้น้ำระเหยทุกวัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อถึงฤดูทำนา พื้นที่ทางการเกษตรในตำบลท่าจำปีหลายพันไร่ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็จะไม่สามารถทำนาได้ จึงอยากวิงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือและวางแผนในระยะยาวด้วย
โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดพะเยาปี 2563 ขึ้น เพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นใน พื้นที่ โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยให้มีการจัดทำแผนการแจกจ่ายน้ำ การเตรียมกำลังพล เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ รถบรรทุกน้ำ การจัดเตรียมพันธุ์พืชสนับสนุนเกษตรกร การประชาสัมพันธ์ในการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของการใช้น้ำอย่างประหยัดสู่พี่น้องประชาชน เกษตรกรในพื้นที่ ให้มีการติดตามเฝ้าระวังในเรื่องของการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข เตรียมพร้อมป้องกันโรคที่มาในช่วงฤดูแล้ง เรื่องของการภาวะของร่างกายที่ขาดการบริโภคน้ำอย่างรุนแรง ขอให้เตรียมในเรื่องของการป้องกันด้านสาธารณสุขไว้ให้พร้อม สำหรับที่จังหวัดพะเยาสถานการณ์น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยังพอเพียง แต่อย่างไรก็ตามขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนไว้รองรับ หากเกิดสถานการณ์น้ำขาดแคลนเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับจังหวัดพะเยา ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 6 อำเภอ 17 ตำบล 80 หมู่บ้าน และประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยแล้ง จำนวน 6 อำเภอ 40 ตำบล 369 หมู่บ้าน (การประกาศทั้งพื้นที่เขตให้ให้ความช่วยเหลือ และพื้นที่ประสบสาธารณภัยเป็นพื้นที่ทางเกษตรส่วนใหญ่ เป็นนาข้าวและพืชไร่บางส่วนรวมประมาณ 149,000 ไร่เศษ)