วันที่ 27 ธ.ค. 66 ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายไชยพร นิยมแก้ว ปลัดจังหวัดปัตตานี แถลงสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขอสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดปัตตานี อาคารศาลากลาง 3 ว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำยังคงต้องเฝ้าระวัง มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินใน 10 อำเภอ
“ปัจจุบันจ.ปัตตานีมีพื้นที่ประสบภัยรวม 10 อำเภอ 95 ตำบล 95 หมู่บ้าน 20 ชุมซน 8,360 ครัวเรือน 25,000 คน เสียชีวิต 1 คน สูญหาย 1 คน (อำเภอเมืองปัตตานี กะพ้อ ทุ่งยางแดง หนองจิก โคกโพธิ์ ไม้แก่น ยะรัง และสายบุรี) ได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว มีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 99 โรง รพ.สต. 10 แห่ง ศาสนสถาน 8 แห่ง ปัจจุบันฝนหยุดตกแต่แนวโน้มสถานการณ์น้ำยังคงต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจ.ปัตตานีได้มีการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น”
โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดปัตตานี ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำท่วม ที่จุด X40A (สะพานท่าสาป จ.ยะลา) ยังคงสูงอยู่ จุด x275 บ้านบริดอ ต.บาราเฮาะ ล้นตลิ่ง 98 ชม และจุด x10A สะพานเดชา ต่ำกว่าตลิ่ง 10 ซม.ซึ่งคาดว่ามวลน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำจะไหลลงมาถึงพื้นที่จังหวัดปัตตานี ช่วงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ซึ่งภาวะน้ำทะเลที่จะหนุนสูงสุดของวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 10.13 น.(1.26 เมตร) ผนวกกับอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกปานกลางซึ่งอาจส่งผลกระทบให้มีน้ำท่วมชังในพื้นที่ลุ่มต่ำได้ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง แล้วจะค่อยๆ ทยอยลดลงตามลำดับ ซึ่งทางจ.ปัตตานีได้มีการระดมสรรพกำลังเครื่องจักรกลสาธารณภัยทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจขึ้นสูง โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานี เทศบาลรูสะมิแล อบต.ปะกาฮะรัง อบต.ตะลุโบะ และอบต.บาราเฮาะ
“จึงขอประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำปัตตานีในพื้นที่ดังกล่าว เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ยกของไว้ในที่สูง เคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง ยานพาหนะ มาไว้ยังจุดปลอดภัย รวมถึงบ้านที่มีกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้กรณีเร่งด่วนสามารถขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ และหน่วยกำลังทหารในพื้นที่ สำหรับสถานที่จอดรถ สามารถนำมาจอดได้ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี โรงเรียนเบญจมราชทิศ และสนามกีฬา อบจ.ปัตตานี”
นายประภาส พุ่มสุวรรณ รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี ฝ่ายวิศวกรรม ชี้แจงถึงเส้นทางคมนาคมว่า ถนนสายหลัก(สาย 42) นราธิวาส – ปัตตานี อำเภอสายบุรี ช่วงสะพานกอตอ มีน้ำท่วมขังเส้นทาง และกัดเซาะสะพาน ซึ่งได้พิจารณาแล้วอาจไม่มีความปลอดภัย มีน้ำท่วมเส้นทาง 3 ช่วงทาง ต้องปิดการจราจรช่วงที่ 3 ถนนถูกน้ำกัดเซาะ จากผิวจราจร 11 เมตร เหลือเพียง 3 เมตร
“มีความสุ่มเสี่ยงมาก จำเป็นต้องปิดถนนเป็นระยะทาง 11 กม. ระวังถนนทรุดตัวและบริเวณคอสะพานกอตออาจจะมีการสไลด์ มีการติดตั้งอุปกรณ์ดูแลความปลอดภัย การบริหารเส้นทางเลี่ยงประสานกับแขวงทางหลวงที่เกี่ยวข้องและทุกฝ่าย ตรวจสอบเส้นทางเลี่ยงที่สัญจรได้จริง” นางอุไรวรรณ มุสิแดง รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปัตตานี ฝ่ายบริหารกล่าว ปัจจุบันด้านเส้นทางคมนาคม ได้มีการประเมินสถานการณ์ทุก 2 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้แจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับในด้านการให้ความช่วยเหลือ ปัจจุบันพื้นที่น้ำขังมีสถานการณ์หนัก อยู่ 2 อำเภอคือ อ.สายบุรี และทุ่งยางแดง ขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เปิดครัวให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มีศูนย์กลางการช่วยเหลืออยู่ที่ตำบลละหาร และที่ว่าการอำเภอทุ่งยางแดง สิ่งของที่ต้องการในขณะนี้ ได้แก่ น้ำดื่ม และเรือท้องแบน ซึ่งจังหวัดกำลังระดมไปยังพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มสถานการณ์ หากฝนที่ตกลงมาปริมาณไม่มากนัก คาดว่าระดับน้ำจะค่อยลดลงใน 2-3 วัน แต่จังหวัดยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าสถานการณ์จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ทางรายงานสรุปสถานการณ์ประจำวันต่อไป
ตอริก สหสันติวรกุล ปัตตานี