เมื่อวันที่ 26 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พรชัย และ น.ส .วาสนา องค์วงษ์สกุล เป็นประธานฝ่ายฆารวาสในการทอดกฐินสามัคคี ณ.วัดขวางชัยภูมิ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างพระมหาเจดีย์พุทธบารมีเพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีขนาด 40 เมตร สูง 49 เมตร ฐานอาคารจำนวน 8 ชั้น เพื่อใช้เป็นอาคารปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์สามเณรและพุทธศาสนิกชนและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ภายในวัดขวางชัยภูมิ
โดยมี พ.ต.อ.พงษ์สวัสดิ์ ไชยบาล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรเชียงราย จุดเทียนน้ำพุทธมนต์ และพุทธศาสนิกชนชาวพุทธจากทั่วสารทิศร่วมในการทอดกฐินเป็นจำนวนมากโดยพระครูพิลาสธรรมสาร เจ้าคณะตำบลคอรุม เจ้าอาวาสวัดขวางชัยภูมิ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และรับครองผ้ากฐินในครั้งนี้
ประเพณีทอดกฐินนี้ เป็นประเพณีที่มีมาแล้วแต่ครั้งสมัยพุทธกาล และเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความนับถือกันว่าเป็นยอดของมหากุศลผลบุญ จะเป็นปัจจัยนำให้ผู้ได้ทอดกฐินนั้นได้ประสบซึ่งความสุขความเจริญในอธิโลกและปรโลกตลอดกาลนาน
คำว่า “กฐิน” นี้ เมื่อจะแปลตามความหมายของศัพท์แล้ว ก็ได้ความหมายว่า “กรอบไม้” สำหรับขึงเย็บผ้าจีวรของภิกษุ ซึ่งกรอบไม้ชนิดนี้ โดยมากนิยมเรียกกันว่า “สะดึง” ฉะนั้นที่มีความนิยมเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน” ก็เพราะเมื่อจะเย็บนั้น ต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนจึงจะเย็บ การที่จะต้องทำเช่นนี้ เพราะว่าในครั้งก่อนโน้น ไม่มีช่างที่มีความชำนาญในการตัดเย็บ ทั้งเครื่องจักรกลต่างๆ ก็ไม่มีจะใช้เหมือนอย่างกับในเวลานี้ จึงต้องอาศัย “สะดึง” ช่วยให้เป็นเบื้องต้นก่อน แล้วจึงเย็บเป็นอันได้ใจความว่า “ผ้ากฐิน” นี้ก็คือผ้าที่ทำให้สำเร็จขึ้นได้ด้วยการอาศัย “กฐิน” หรือ “สะดึง” เมื่อเสร็จเป็นผ้า “กฐิน” แล้วจึงได้นำไปทอดแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาแล้วตลอด 3 เดือน ซึ่งมีความนิยมเรียกกันว่า “ทอดกฐิน”
คำว่า “ทอด” นี้ก็คือเอาไปวางไว้ การทอดกฐินก็คือการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนอย่างที่สุด 5 รูป โดยมิได้มีความตั้งใจว่า จะถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเมื่อทอดแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ของฆราวาส ส่วนเรื่องต่อไปนั้น พระสงฆ์ท่านจะมอบหมายให้กันและกันเอง ตามที่ท่านเห็นว่า สมควรจะให้ภิกษุรูปใดเป็น “กรานกฐิน” ก็สุดแต่ท่านจะจัดทำกันเอง ฆราวาสเมื่อ “ทอด” หรือ “วาง” ไว้แล้ว ก็คอยออกมารับอนุโมทนา เมื่อพระสงฆ์ท่านกรานเสร็จแล้วเท่านั้น
การทอดกฐินนี้ มีกำหนดและระยะเวลาดังนี้ คือ มีกำหนดตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 คือ มีกำหนดเวลา 1 เดือน ภายหลังจากออกพรรษาแล้วจะทอดก่อนหรือภายหลังจากที่กำหนดไว้ไม่ได้ เพราะได้มีเป็นพุทธบัญญัติไว้
นาคา คะเลิศรัมย์/รายงาน