รัฐบาลนายก ฯ ตู่ สานฝันชาวโคราช แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง ค่าโดยสารเริ่มต้น 107-534 บาท งบกว่า 1.79 แสนล้านบาท เปิดให้บริการ 2566
ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 สิงหาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่การมีส่วนร่วมของประชาชน งานปรับแบบรายละเอียดในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ช่วงสระบุรี-นครราชสีมา) โดยมีผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พระภิกษุและประชาชนที่มีที่ทำกินและที่พักอาศัยในแนวเส้นทางรถไฟผ่าน จำนวน 300 คน รับฟังการชี้แจงการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ระหว่างประเทศไทยไปประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) จากผู้แทนสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านล่ามชาวไทย โดยเผยแพร่ข้อมูลและการดำเนินงานที่ฝ่ายจีนออกแบบรายละเอียดและควบคุมการก่อสร้าง จึงอาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงจากรูปแบบเดิม เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ นำไปพิจารณาประกอบการสำรวจออกแบบรายละเอียดรวมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการและการจัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต้องรอบคอบรัดกุมและมีประสิทธิภาพรวมถึงการปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
นายทศวรรณ นิจพาณิชย์ ผู้จัดการโครงการ ฯ เปิดเผยความเป็นมาของการดำเนินโครงการว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 57 รัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 -2569 เพื่อร่วมพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอยท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางรวมประมาณ 867 กิโลเมตร โดยให้รัฐบาลจีนมีส่วนร่วมตั้งแต่การเตรียมโครงการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ และดำเนินการก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการลงทุนที่มีความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและในวันที่ 23 มีนาคม 59 พล.อ.ประยุทธ์ ฯ นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ที่เมืองไหหนาน ประเทศจีน มีข้อสรุปการลงทุนให้ฝ่ายไทยเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยกำหนดนโยบายเริ่มต้นเส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมาและส่วนต่อขยายเมื่อมีความพร้อมต่อมาในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา เป็นลำดับแรก โดยฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างและการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 11และครั้งที่ 12 มีมติร่วมกันแบ่งสัญญาโครงการออกเป็น 2 ส่วน คือ สัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา ฝ่ายไทยเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธา,สัญญาที่ 2 งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลและรถจักรล้อเลื่อน ฝ่ายจีนเป็นผู้ คัดเลือกผู้รับจ้างวางระบบ ส่วนฝ่ายไทยเข้ามาสังเกตการณ์ทำงานของผู้รับจ้างจีน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับของฝ่ายไทย ล่าสุดในการประชุมครั้งที่ 20/2559 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม59 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างและสั่งจ้างบริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดการออกแบบของฝ่ายจีนและออกแบบเพิ่มเติมในส่วนที่ฝ่ายจีนไม่ได้ดำเนินการสำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการเวนคืนและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ขณะนี้ได้ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงสถานีรถไฟกลางดง-ปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
อำนาจ อภัยภักดี ข่าวภาพนครราชสีมา