กมธ.การสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ติดตามสถานการณ์การจัดและให้บริการสาธารณสุข และสถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. (ถ่ายโอน และไม่ถ่ายโอน)
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ รพ.สต. บ้านเจ๊ะเก ตำบลบาโงสะโต อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส นายฮัสนาน หะยีเจ๊ะเล๊าะ ผู้อำนวยการ รพ.สต. เจ๊ะเก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ของ อบจ.นราธิวาส ตลอดจน อสม. เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
รพ.สต. เจ๊ะเก ถ่ายโอนภารกิจไปยังอบจ.นราธิวาส ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นระยะเวลา 5 เดือนแล้ว ซึ่งการขับเคลื่อนและดำเนินงานด้านสาธารณสุขไม่ได้มีการลดการดำเนินการด้านสาธารณสุขลง โดยยังคงดูแลประชาชนในพื้นที่เช่นเดิม ทั้งในภารกิจด้านส่งเสริมป้องกัน ควบคุมโรค การดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ รวมทั้งภาคีเครือข่าย ตลอดจน อสม. โดย รพ.สต.เจ๊ะเก มีการขับเคลื่อนภารกิจด้วยยุทธศาสตร์ ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นหน่วยปฐมภูมิวิถีมุสลิมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน บริการอย่างองค์รวมที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ภาคีมีส่วนร่วมเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาขน” ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ได้มีการกำหนดเข็มมุ่งเพื่อดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ คือ บุหรี่ วัคซีน และชราสลาม โดย รพ.สต.เจ๊ะเก ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบเรื่องการงดสูบบหรี่ สำหรับการดำเนินการตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่นั้น ได้มีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการยืนยันสิทธิได้ ร้อยละ 24.12 ซึ่งอนาคตจะเร่งประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนต่อไป
ปัญหาอุปสรรคสำคัญ เช่น ปัญหาด้านบุคลากรที่ยังไม่เป็นไปตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ รวมถึงปัญหาด้านงบประมาณที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรตามที่ประกาศไว้ และการให้บริการปฐมภูมิ ไม่เป็นไปตามข้อตกลง (บางเครือข่ายสุขภาพ) อีกทั้งมีข้อจำกัดของระเบียบการโอน ระหว่าง รพ. กับ รพ.สต. สังกัด อบจ.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ด้านสังคม พบว่า เด็กจบการศึกษาขั้นพื้นฐานประมาณร้อยละ 23 ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบระยะยาวในด้านอื่น ๆ รวมทั้งด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอัตราป่วย 10 อันดับแรก อาจมองข้ามปัญหาด้านทันตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพช่องปากที่สำคัญของทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็ก การส่งเสริมสุขภาวะในเรื่องดังกล่าว กลไกขับเคลื่อนสำคัญ คือ ครู และ อสม. นอกจากนี้ จังหวัดนราธิวาสมีเด็กเกิดจำนวนมาก การส่งเสริมให้ประชาชนออกกกำลังกายเพื่อมีสุขภาพที่ดี ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายและระเบียบที่ส่งเสริมเรื่องดังกล่าว ทำให้การดำเนินการจึงเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพโดยตรง ดังนั้น การลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการจึงได้รับทราบข้อมูลและข้อเสนอแนะ รวมถึงประเด็นปัญหาที่ของพื้นที่ที่เป็นประโชน์อย่างมาก โดยจะได้นำไปสู่การมีข้อสังเกตต่อรัฐบาลต่อไป
จากนั้น เวลา 13.30 นาฬิกา ณ รพ.สต.ลำภู ตำบลลำภู อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปยัง อบจ. ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์สมบูรณ์ บุญกิตติชัยพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส นายนิวัน นิโซะ สาธารสุขอำเภอเมืองนราธิวาส นายแพทย์พรประสิทธิ จันทระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ นางจิรสุดา ชินไชยชนะ รักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต. ลำภู รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข ตลอดจน อสม. เข้าร่วมการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
รพ.สต.ลำภู เป็น รพ.สต. ในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากร จำนวน 8 คน การดำเนินงานของ รพ.สต. ที่ผ่านมา ในพื้นที่เป็นไปด้วยดี โดยการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และ อสม. ซึ่งปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง เนื่องจาก รพ.สต.ลำภู เป็น รพ.สต. ที่ต้องดูแลประชากรจำนวนมากในพื้นที่ โดยปัญหาสุขภาพ คือ โรคเรื้อรัง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 14 ปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออก และปัญหาเด็กอายุ 0-5 ปี ได้รับวัคซีนไม่เป็นไปตามเกณฑ์
สำหรับการดำเนินงานด้านปฐมภูมิ หรือ PCC มีการนำนโยบายหมอครอบครัวเข้ามาดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2564 โดยมีการประชาสัมพันธ์นโยบาย 3 หมอ ส่วนในปี 2565 ได้ขึ้นทะเบียนเป็น PCC ลำภูและได้รับการสนับสนุนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ เช่น เภสัชกร จากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ (โรงพยาบาลแม่ข่าย) ในการเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนด้านวิชาการซึ่งนำไปสู่การจัดทำนวัตกรรมด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ปิงปอง 7 สี นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินงานร่วมกับชุมชน มีการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะของ อสม. มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่
ด้านความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่มีการดำเนินการตามเป้าหมายในการให้ประชาชนยืนยันสิทธิและพิสูจน์ตัวตนแล้ว ร้อยละ 55.46
ด้านการเตรียมความพร้อมถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ.นราธิวาส ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นั้น ภายหลังที่ให้บุคลากรแสดงความประสงค์ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอน พบว่า ภายหลังถ่ายโอน รพ.สต. จะมีผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 2 คน ซึ่ง อบจ. จะต้องพิจารณาจัดหาผู้ปฏิบัติงานมาเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการจัดและให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก ทั้งนี้ เหตุผลการถ่ายโอนของบุคลากร คือ บุคลากรดังกล่าวเป็นคนในพื้นที่ ต้องการทำงานในพื้นที่เดิม
จากนั้น คณะกรรมาธิการได้มีข้อห่วงใย และข้อสังเกตและข้อเสนอแนะสำคัญ โดยสรุปว่า ประเด็นปัญหาด้านบุคลากร ซึ่งมีทั้งผู้ที่ประสงค์โอน ไม่ประสงค์โอน และเมื่อขอโอนไปแล้วมีความประสงค์ขอโอนกลับมายังกระทรวงสาธารณสุข ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบของหน่วยงาน จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้มีความชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ การถ่ายโอนควรดำเนินการภายใต้ความพร้อมของทุกด้าน ทั้งในด้านคน เงิน และของ ไม่ควรดำเนินการด้วยความเร่งรีบ เพื่อให้การถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน