พิจิตรฝนตกต่อเนื่องแม่น้ำยม-แม่น้ำน่านปริมาณน้ำสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบน้ำท่วมนาข้าวในที่ลุ่มชลประทานยืนยันช่วงนี้สถานการณ์น้ำยังไม่ท่วม แต่ต้องรอลุ้นและติดตามสถานการณ์แบบรายวัน!!
วันที่ 27 ส.ค. 2561 นายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร, นายธรรมนูญ แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร , นายพีรพจน์ ศรีสกุล เลขานุการนายกอบต.สากเหล็ก, รท.บันเทิง พ่วงดี สัสดีอำเภอสากเหล็ก พร้อมด้วยเกษตรกรและผู้นำหมู่บ้านได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำในเขตอำเภอสากเหล็ก ซึ่งได้รับผลกระทบจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่อง จึงทำให้นาข้าวของหมู่ 3 , หมู่ 5 ตำบลสากเหล็ก ซึ่งเป็นนาข้าวในที่ลุ่มถูกน้ำท่วมขังแล้วประมาณ 300-500 ไร่ แต่คาดการณ์ว่าช่วงนี้ฝนจะทิ้งช่วงก็จะเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งนาผ่านตลองสาขาต่างๆลงสู่แม่น้ำน่าน ซึ่งน่าจะเป็นการแก้วิกฤตดังกล่าวได้
นายทินกร รัตนพัวพันธ์ ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ได้ให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำน่าน ว่า ขณะนี้ระดับน้ำมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่จากการดูผลของระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ N7A ที่อยู่ในเขตจังหวัดพิจิตรพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 2.71 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ประกอบกับเขื่อนสิริกิตระบายน้ำมาจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์วันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีน้ำที่เกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนน้ำได้ไหลเข้าตัวเขื่อน ในอัตราวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นเขื่อนสิริกิติ์จึงมีความจำเป็นต้องรักษาอัตราการระบายน้ำ ที่อยู่ในอัตราวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตรอยู่ในขณะนี้ แต่สถานการณ์น้ำของเขื่อนสิริกิติ์ยังถือได้ว่ายังรับน้ำได้อีก เป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันน้ำในเขื่อนสิริกิติ์มีอยู่ประมาณ 74.40 %ของความจุของเขื่อน แต่ถ้าดูสถานการณ์น้ำในเขตพิจิตรให้รอบด้าน ก็จะพบว่าเขื่อนนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบัน ระบายน้ำทิ้งท้ายเขื่อนอยู่ในอัตราประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เนื่องจากมีมวลน้ำที่เกิดจากฝนตก ที่ตกในเขตอำเภอวังทองหรือในเขตของคลองชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีปริมาณน้ำที่ไหลลงมารวมกับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากเขื่อนนเรศวรน้ำได้ไหลลงมาสมทบกันจึงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านในเขตของจังหวัดพิจิตรยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งคาดการณ์ว่าภายใน 2-3 วันนี้จะมีมวลน้ำอีกก้อนหนึ่ง ที่มาจาก บ้านโคกจังหวัดอุตรดิตถ์ มวลน้ำจะไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลก และน้ำจะใช้เวลามาถึงพิจิตรประมาณ 3-4 วัน จึงเป็นเหตุให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านมีสูงขึ้นต่อเนื่องดังกล่าว โดยระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ซม. ดังนั้นจึงมั่นใจว่าในช่วงนี้ถึงแม่น้ำน่านจะมีระดับสูงขึ้น ก็ไม่มีผลกระทบกับผู้ที่อยู่ริมตลิ่งแต่อย่างใด
นอกจากนี้จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเกษตรกร ในเขตอำเภอสากเหล็ก พบว่ามีปริมาณน้ำที่มาจากอำเภอวังทองรวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วง ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำ ไหลบ่าเข้าท่วมนาข้าว ของชาวบ้านบางส่วนเนื่องจากน้ำรอการระบายลงคลองระบายน้ำเพื่อไหลลงสู่แม่น้ำน่าน แต่การระบายเป็นไป ได้ช้าคงจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็คงจะทำให้สถานการณ์น้ำที่ท่วมในนาข้าวแถวอำเภอสากเหล็กคงจะคลี่คลายลง แต่ความเสียหายที่เกิดกับนาข้าวมีไม่มากนักเนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกข้าวในช่วงกลางเดือนเมษายน 2561 และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2561 จึงคาดการณ์ว่าน่าจะมีนาข้าวประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำนาล่าช้ากว่าคนอื่นจึงได้รับผลกระทบ แต่ไม่มากนัก
ส่วนสถานการณ์ในแม่น้ำยมปริมาณน้ำยังถือว่าทรงตัว ปริมาณน้ำไม่มากเหมือนดั่งทุกปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่เคยมีมากสุด ได้ระบายผ่านจังหวัดสุโขทัย มาแล้ว ซึ่งแต่เดิมคาดการณ์ว่าน้ำจะผ่านจังหวัดสุโขทัยประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีผลปรากฏว่า ปริมาณน้ำสูงสุดที่ไหลผ่านอยู่แค่อัตรา 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งถือว่าไม่สูง ส่วนการระบายน้ำจากแม่น้ำยม จากโครงการพลายชุมพลก็ได้ ผันน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านผ่านของ DR.2.8กับ DR.15.8 ซึ่งสามารถระบายน้ำได้สูงสุด 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำที่ผ่านของ DR. ทั้งสอง ลงสู่แม่น้ำน่าน เอาเข้าจริงตอนนี้ปรากฏว่า มีปริมาณน้ำตากยมสูงน่าน ผ่านประตูน้ำทั้ง 2 แห่ง แค่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น จึงถือว่าระดับน้ำในแม่น้ำยมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยเช่นกัน
โดยสรุปชลประทานจังหวัดพิจิตรยังคงฝากให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่า ต้นสัปดาห์ของเดือนกันยายน 2561 จะมีพายุหมุนเขตร้อนอีกลูกหนึ่ง ที่ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ก่อตัวในเขตพื้นที่ของประเทศไทย แต่อยากให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ เนื่องจากท่าพายุหมุนฤดูร้อนลูกนี้หากก่อตัวขึ้น ก็อาจส่งผลต่อประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักได้ อีกทั้งอยากให้สังเกตว่าในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าพื้นดินชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ ดังนั้นถ้ามีฝนตกซ้ำลงมาอาจก่อให้เกิดน้ำไหลหลาก หรือน้ำท่วมได้ ดังนั้นประชาชนหรือเกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ ณ วันนี้ ยืนยันได้ว่าสถานการณ์น้ำในจังหวัดพิจิตรยังอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยและยังควบคุมได้อยู่
สิทธิพจน์ พิจิตร