วันที่ 27 ส.ค.2561-เจ้าหนี้ร้องศาลล้มละลายกลางขอนำIFEC เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หยุดทุกปัญหา จัดทำแผนฯนำบริษัทเข้าสู่กระบวนการแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ หวังให้IFEC เดินหน้าต่อแทนการล้มละลายต้องขายทรัพย์สินใช้หนี้-ป้องกันผู้ถือหุ้นสูญเงิน
นายประสิทธิ วงศาสวัสดิ์ ทนายความของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ไอเฟค(IFEC) แถลงข่าวแจ้งนักลงทุนว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 บริษัทฯได้รับหมายแจ้งคำสั่งของศาลล้มละลายกลางว่า มีเจ้าหนี้รายหนึ่งของบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 โดยศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ IFECแล้ว และนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 เวลา 09.00 น.
นายประสิทธิ กล่าวว่า การที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯมีผลทางกฎหมายให้IFECอยู่ในสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic stay) ตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการในพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 จะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจและการบริหารจัดการIFEC เพื่อเป็นการรักษาธุรกิจของIFEC ให้ดำเนินการต่อเนื่องได้ตามปกติ อันจะเป็นการรักษามูลค่าทางธุรกิจของIFECและบริษัทย่อยไว้ อีกทั้งเพื่อป้องกันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดต่อพนักงาน ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ ทางIFECจะพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายในคดีฟื้นฟูกิจการ ให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่IFEC ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทุกราย
“กระบวนการฟื้นฟูกิจการของIFECซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจให้กิจการของIFECดำเนินการต่อไปได้ IFECไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องถูกขายทรัพย์สินมาใช้หนี้ อีกทั้งยังทำเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นการทำเพื่อประโยชน์เเก่IFECเเละเจ้าหนี้ทั้งหลาย การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น จึงถือว่าเป็นการกระทำเเทนบุคคลอื่นด้วย” นายประสิทธิ์ กล่าว
ทนายความIFEC กล่าวอีกว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะไม่ทำให้การประกอบกิจการของIFECต้องสะดุดหยุดลงโดยทันที โดยIFECยังสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติเพื่อรักษามูลค่าทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไป ซึ่งการฟื้นฟูกิจการเป็นเสมือนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ การปรับโครงสร้างกิจการภายใต้การกำกับดูแลของศาล ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเป็นธรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์
อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯหากจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่และลูกหนี้(IFEC)ตกลงร่วมมือกัน เพื่อให้กิจการของIFECสามารถดำรงคงอยู่ได้ ส่งผลให้เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม และทำให้IFECไม่ต้องล้มละลาย ธุรกิจของIFECอยู่รอดต่อไปในระหว่างฟื้นฟูกิจการด้วย โดยเป็นมาตรการคุ้มครองสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของIFECเพื่อให้IFECสามารถดำเนินกิจการของตนเองได้โดยปราศจากเหตุรบกวน หลังจากที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเเล้ว ศาลจะทำการไต่สวนคำร้อง เเละหากไต่สวนฯเเล้วเห็นควรให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนต่อไป ซึ่งในระหว่างการเลือกผู้ทำเเผน อำนาจในการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของIFECจะอยู่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์