ราชบุรี จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ การประกวดผ้า สืบสาน สร้างสรรค์ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา “ ประจำปี 2565 และ ผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา ” ประจำปี 2566
วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ ศาลาสมเด็จพุฒาจารย์ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานพิธีมอบประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานผ้าทอพื้นถิ่นราชบุรี ในที่ประชุมคณะกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และนายอำเภอ ประจำเดือนธันวาคม 2566 โดยมี นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดราชบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งจังหวัดราชบุรีได้รับรางวัลพระราชทาน จำนวน 3 รางวัล แบ่งเป็น การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2565 จำนวน 1 รางวัล และ การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ปี 2566 จำนวน 2 รางวัล ดังนี้
รางวัล การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ประจำปี 2565 ได้แก่
นางณัฐธภา ทิพย์วัจนะ ประเภท ผ้าจก รางวัลเหรียญทองพระราชทาน
รางวัล การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ปี 2566 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่
1. นายณัฐพงษ์ ใจมุ่ง ประเภท ผ้าชาติพันธุ์ รางวัลเหรียญทองพระราชทาน
2. นางณัฐธภา ทิพย์วัจนะ ประเภท ผ้าชาติพันธุ์ รางวัลเหรียญนากพระราชทาน
โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นทั่วประเทศ ในปี 2565 และ ในปี 2566 ทรงมีพระเมตตาพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” แก่ช่างทอผ้าทุกกลุ่มผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน การพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยในลวดลายผ้าแต่ละลวดลายแฝงไปด้วยความหมายที่มีความลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นในการทรงสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นความปลาบปลื้มของพสกนิกรชาวจังหวัดราชบุรีอย่างหาที่สุดมิได้ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงมีพระเมตตา ตลอดจนทรงเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเสื้อผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ก่อให้เกิดรายได้สู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
สุพจน์ วรสหวัฒน์/รายงาน