25 มิถุนายน 2567 ที่ วัดศรีรัตน์ ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายไพโรจน์ จิตจักร์ ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ถูกคุมความประพฤติ ระยะเวลา 15 วัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “ค่ายรู้…รัก (Sense and Love)” พร้อมด้วยนางอำไพ ชนะชัย ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดร้อยเอ็ด, ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ อาสาคุมประพฤติ ผู้ทำท้องที่ และผู้นำท้องถิ่นตำบลสีแก้ว เข้าร่วมเป็นเกียรติ โดยมีพระเมธีวัชราภรณ์ รศ,ดร. เจ้าคณะอำเภอศรีสมเด็จ ธรรมยุต เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นางอำไพ ชนะชัย ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญมีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 166 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ซึ่งอยู่ในความดูแลและต้องได้รับการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัย กรมคุมประพฤติจึงจัดโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดระยะยาวในลักษณะค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดำเนินการด้วยโปรแกรมต่างๆ ร่วมกับการสร้างการรับรู้และบูรณาการการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และอาสาสมัครคุมประพฤติ ในการดูแลแก้ไข ฟื้นฟู ช่วยเหลือ สงเคราะห์ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนด้านอาชีพเพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า มีเป้าหมาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเกิดความมั่นคงในชีวิตต่อไป เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันจิตใจที่เข้มแข็ง พัฒนาความคิด จิตวิญญาณ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งได้รับโอกาสในการฝึกวิชาชีพที่หลากหลายและพัฒนาอาชีพตามความต้องการของตนเอง
สำหรับ “ค่าย รู้…รัก (Senseand Love)” เพื่อดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด ที่มีผลการจำแนกอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง หรือกลุ่มเสี่ยงป่านกลาง ที่ครอบครัวไม่สามารถดูแลให้เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษได้ กับมีอาชีพที่ไม่มั่นคง แต่พนักงานคุมประพฤติพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น เหมาะสมที่จะจัดให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวให้สามารถพัฒนาทั้งทางด้านสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม รวมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด และพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติ เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถเลิกเกี่ยวข้องกัยาเสพติดและกลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และพ้นคุมความประพฤติ ได้การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้มีผู้ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 50 ราย ประกอบด้วย ผู้ถูกคุมความประพฤติจาก 4 จังหวัด 5 สำนักงาน ประกอบด้วย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 26 ราย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 7 ราย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 3 ราย สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดกาฬสินธุ์จำนวน 7 ราย และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 7 ราย
สมนึก บุญศรี รายงาน