ที่ศาลากลางจังหวัดพังงา เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพังงานำโดยนายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับการกดราคารับซื้อยางพารา ต่อนายไพรัตน์ เพชรยวน ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความเป็นธรรมจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างรุนแรง โดยมีนายสมยศ รักษ์กำเนิด ผอ.การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา ว่าที่ร้อยตรีมัรวาน อภิชาต เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงา เข้าร่วม
ในหนังสือร้องเรียน ระบุว่าการลดลงของราคายางมีแนวโน้มต่อเนื่อง และเกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มนายทุนและบริษัทรับซื้อยางรายใหญ่ที่จงใจกดราคาซื้อยางต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทางกลุ่มเกษตรกรได้เสนอแนวทางการแก้ไข 9 ข้อ อาทิ ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการออกประกาศกำหนดราคาซื้อยางที่เป็นธรรม, ตรวจสอบบริษัทที่มีพฤติกรรมกดราคาและอาจเลี่ยงภาษี, ควบคุมการขนย้ายยางบริเวณชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า และเสนอให้อนุมัติโครงการเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรย้ำว่า หากไม่ได้รับการตอบกลับภายใน 15 วัน จะยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป
นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางพาราซื้อขายในตลาดภายในประเทศในห้วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 มีราคาลดลงประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม อย่างมีนัยสำคัญและมีทีท่าว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในด้านต้นทุนการผลิตและประสบภาวะขาดทุน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและครอบครัวของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก ทั้งที่ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญและมีการควบคุม กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกลุ่มนายทุน บริษัทรับซื้อยางพารารายใหญ่ ได้ใช้วิธีการรับซื้อที่ไม่เป็นธรรม ต่อเกษตรกร จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาที่เป็นจริงเกินสมควร ทำให้เกิดความผันผวนในด้านราคาในตลาดยางพารา ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 29 และมาตรา 41 โดยการกระทำดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับราคาที่แท้จริง หวังเพียงเพื่อผลกำไรของกลุ่มทุนของตนเองเท่านั้น เป็นการเอาเปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ขาดคุณธรรม ส่งผลต่อราคาตลาดในภาพรวม เป็นการฉกฉวยโอกาสและถือโอกาสกดราคาอย่างไม่เป็นธรรม โดยอาศัยสถานการณ์ที่ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการทางภาษี 36% ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีการเลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วัน และยางพาราที่ทำการซื้อขายก็ไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในห้วงของการส่งออกไปยังต่างประเทศแต่ประการใด จึงอาจเข้าข่ายการกักตุนสินค้ายางพาราเพื่อเก็งกำไรหรือเป็นการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ทางการค้าที่เอาเปรียบและย่ำยี ชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง ประมาณ 1.6 ล้านครอบครัว รวมสมาชิก 5 ล้านคน ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงนำมาสู่การยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะที่ราคายางก้อนถ้วยในพื้นที่นั้นล่าสุดอยู่ที่ราคาประมาณ25-27บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น