กมธ.การพัฒนาสังคมฯ จัดเสวนา “ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้สื่อในสังคมไทยเพื่อช่วยลดความรุนแรง”
.
วันที่ 26 มกราคม 2567 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน จัดเสวนา เรื่อง “ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้สื่อในสังคมไทยเพื่อช่วยลดความรุนแรง” โดยมี นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะทำงานฯ กล่าวเปิดการเสวนา นางสุดใจ พรหมเกิด คณะทำงานฯ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะทำงานฯ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง องค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชนด้านสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน เข้าร่วม
.
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากสถิติของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในปี 2566 พบว่ามีคดีอาญาเด็กและเยาวชนมากถึง 10,340 คดี แยกเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ 3,110 คดี เกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 2,999 คดี เกี่ยวกับทรัพย์ 2,622 คดี เกี่ยวกับอาวุธ และวัตถุระเบิด 1,530 คดี และความผิดอื่น ๆ 1,079 คดี โดยมีองค์ประกอบแวดล้อมคือเรื่องยาเสพติด และการสั่งซื้ออาวุธที่หาซื้อได้ง่ายจากสื่อออนไลน์ จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอให้ใช้กิจกรรมเป็นสื่อเพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันทำให้เพิ่มความเข้าใจกันมากขึ้น
โดยผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจและมีกติการ่วมกัน รวมถึงมีการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อลดความรุนแรง นอกจากนี้กระบวนการในระบบต่าง ๆ เช่น นโยบายภาครัฐ การศึกษา ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขาดการเชื่อมโยง ไม่มีความต่อเนื่อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการเสวนาครั้งนี้จะเกิดเป็นแนวนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
.
สำหรับการเสวนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากการใช้สื่อในสังคมไทย โดยภายในงานได้มีการนำเสนอสถานการณ์ เรื่อง “ความรุนแรงที่สัมพันธ์กับการใช้สื่อในสังคมไทย” โดย นางศรีดา ตันทะอธิพานิช คณะเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ในเด็กและเยาวชน และข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการใช้สื่อเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย โดย นางธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก รองประธานคณะทำงานฯ โดยภายหลังจากการเสวนาคณะทำงานฯ จะจัดทำรายงานถึงคณะกรรมาธิการฯ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยมีเป้าหมายคือมติคณะรัฐมนตรีในการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในการใช้สื่อเพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทยต่อไป
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน