อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดตัวกิจกรรม “ศาสตร์พระราชาสู่เกษตรพอเพียงเพื่อการพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ” นำร่องที่หยาดฝนฟาร์ม เชียงใหม่ เพื่อให้คนพิการและครอบครัว อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.62 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานเปิดกิจกรรม“ศาสตร์พระราชาสู่เกษตรพอเพียงเพื่อการพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ” ซึ่งกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจัดขึ้น โดยมีนายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นายอำเภอแม่แตงร่วมกล่าวต้อนรับ นางสาวระรินทิพย์ เพ็ชรเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ อาสาสมัคร(อพม.) และองค์กรคนพิการในพื้นที่ หน่วยงานสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐระดับจังหวัดและอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ (3 ศูนย์) องค์กรภาคเอกชน สถานประกอบการที่เป็น Partnership และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
สำหรับศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์กรด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพและอาชีพให้คนพิการในเขตพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ ได้ดำเนินการฝึกอาชีพคนพิการประจำปี 2562 รวม 4 หลักสูตรได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ตัดเย็บเสื้อผ้าและงานประดิษฐ์ และเกษตรกรรมโดยมีผู้สำเร็จการฝึกอาชีพรุ่นที่ 32 รวมทั้งสิ้น 20 คน
นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดผยว่า การจัดงาน”ศาสตร์พระราชาสู่เกษตรพอเพียง เพื่อการพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ@หยาดฝนฟาร์ม เชียงใหม่ในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกำหนดประเด็นด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ตลอดจนแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเน้นให้ “คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิติอิสระในสังคม อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดสิทธิของคนพิการไว้อย่างครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการให้บริการทางการแพทย์ การจัดการศึกษา การส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพ สวัสดิการสังคม และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ รวมถึงด้านอื่น ๆ เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาคนพิการ เพื่อให้เป็นพลังของสังคมและประเทศชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการอย่างบูรณาการในทุกด้าน เหมาะสมกับ สภาพความพิการแต่ละประเภท สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนพิการ รวมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ เมื่อคนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางร่างกาย การศึกษา และสังคมแล้ว จะต้องฟื้นฟูส่งเสริมด้านอาชีพให้แก่คนพิการ เพื่อให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้จากการรายงานสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประจำเดือนมิถุนายน 2562 ระบุมีคนพิการได้รับการออกบัตร ประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,038,929 คน ในจำนวนนี้มีคนพิการที่มีศักยภาพสามารถทำงาน ได้แต่ยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวน 148,860 คน รวมทั้งคนพิการที่พิการรุนแรงไม่ สามารถประกอบอาชีพได้ จำนวน 56,249 คน และคนพิการส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ร้อยละ 25.79
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้มีการดำเนินการด้านการจัดสวัสดิการของคนพิการ ในศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ 8 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ (โรงงานปีคนพิการสากล) รวม 9 แห่ง มีคนพิการที่อยู่ในความดูแล จำนวน 400 คน วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการของคนพิการในศูนยพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ ให้มีมาตรฐานเพื่อส่งเสริมให้ คนพิการมีอาชีพอิสระ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการและครอบครัว สามารถปรับตัวในสังคมอย่างเป็นสุข โดยมีกิจกรรมขับเคลื่อน อาทิ การฝึกอาชีพ การพัฒนาหลักสูตรให้เป็นที่ยอมรับและเหมาะสมกับคนพิการ การสำรวจความต้องการของสถานประกอบการ การเป็นศูนย์การเรียนรู้พัฒนาทักษะอาชีพคนพิการ การเตรียมความพร้อมคนพิการสู่การมีงานทำและการฝึกทักษะการดำรงชีวิตของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มคนพิการโดยเฉพาะกลุ่มความพิการทางสติปัญญา
อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กล่าวต่อไปอีกว่า กรมฯได้ตระหนักถึงการส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำของคนพิการด้านการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับฐานข้อมูลทางอาชีพคนพิการที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการ “ศาสตร์พระราชาสู่เกษตรพอเพียง” ในรูปแบบสวนเกษตรผสมผสาน เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะอาชีพเกษตรอินทรีย์แก่คนพิการในศูนย์ ฯ นำร่อง 3 ศูนย์ฯ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดระบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน ภายใต้การส่งเสริมอาชีพอิสระด้านเกษตรอินทรีย์ “ตามรอยพระบาท ศาสตร์พระราชา” จึงมีแผนต่อยอดให้ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางอาชีพแก่คนพิการและครอบครัวในชุมชน เพื่อให้คนพิการและครอบครัว อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน”นางธนาภรณ์ กล่าวในที่สุด.
ทรงวุฒิ ทับทอง