สดร. ระดมเยาวชนทั่วประเทศโชว์ผลงานวิจัยดาราศาสตร์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ต่อยอดยุววิจัยไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่ ดึงเยาวชนทั่วประเทศนำเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนกว่า 50 ผลงาน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาทักษะ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ครูและนักเรียน หวังต่อยอดคลอดครุวิจัยและยุววิจัยไทยรุ่นใหม่ผลิตงานวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น
ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. กล่าวว่า สดร. ร่วมกับสสวท. จัดการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. นำนักเรียนมาเสนอโครงงานหรืองานวิจัยดาราศาสตร์ที่ตนเองสนใจ และยังเปิดโอกาสให้โรงเรียนจากทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมนำเสนอผลงานในเวทีนี้อีกด้วย กิจกรรมนี้ สนับสนุนให้เด็กคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบ ช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารตลอดจนการคิดเชิงวิพากษ์ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแนวคิดและแรงบันดาลใจในการทำโครงการวิจัยให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ
ในปีนี้มีโรงเรียนจากทั่วประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 25 โรงเรียน 53 ผลงาน ภายใต้หัวข้อ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ดวงอาทิตย์ 2) ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3) ดาวฤกษ์และกระจุกดาวฤกษ์ 4) สารระหว่างดาว กาแล็กซี และเอกภพ 5) ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ 6) อุปกรณ์และโปรแกรมทางดาราศาสตร์ แบ่งเป็นการนำเสนอแบบบรรยาย จำนวน 33 ผลงาน และแบบโปสเตอร์ จำนวน 20 ผลงาน ในภาพรวมหัวข้องานวิจัยมีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ การศึกษาสเปกตรัมหาธาตุองค์ประกอบของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ต่าง ๆ มีงานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุเพิ่มเข้ามา ได้แก่ การศึกษาผลกระทบจากไอโอต่อการแผ่คลื่นวิทยุของดาวพฤหัสบดี ส่วนเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ทั่วไปที่จับต้องได้ก็ยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะปรากฏการณ์และการสังเกตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ เป็นต้น
สำหรับน้อง ๆ เยาวชนที่สนใจดาราศาสตร์ การทำโครงงานดาราศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียนทั่วไป ความอยากรู้ นำไปสู่การตั้งคำถาม คิดหาวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ เป็นโอกาสดีที่จะช่วยให้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ดร. มติพล กล่าวปิดท้าย
นายแพทริค อะโป ชิลดอฟสกี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสีและความสว่างของดวงจันทร์กับปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศ กล่าวว่า การศึกษาหัวข้อดังกล่าว เป็นเรื่องที่สนุกมาก ระหว่างการศึกษาได้รับข้อเสนอแนะที่หลากหลายจากเพื่อนๆ และคุณครู การเข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมาย สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดศึกษาเรื่องนี้ต่อไปได้ในอนาคต เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้รู้จักกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางดาราศาสตร์ระหว่างกันด้วย
ด้านนางบรรณารักษ์ ตัญจพัฒน์กุล คุณครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ที่ปรึกษาโครงงานดาราศาสตร์ดังกล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณ สดร. ที่มอบกล้องโทรทรรศน์ ชนิดดอปโซเนียน ในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัดฯ ให้แก่โรงเรียน ทำให้นักเรียนได้นำไปใช้เป็นอุปกรณ์ศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และทำโครงงานต่างๆ การเข้าร่วมงานประชุมฯ ในครั้งนี้นอกจากจะเป็นผลดีต่อตัวนักเรียนแล้ว ครูที่ปรึกษาเองก็ยังได้ทราบถึงองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากผู้เชี่ยวชาญไปพร้อมกับนักเรียน ได้รับคำแนะนำในหลายๆ มิติ สามารถนำไปพัฒนาโครงงานดาราศาสตร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นางสาวสุภนิช ศรีเมฆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ร่วมนำเสนอผลงาน เรื่อง สื่อการเรียนรู้ระบบสุริยะสำหรับผู้พิการทางสายตา สร้างแบบจำลองลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ กล่าวถึงผลงานของตนเองว่า ต้องการให้ผู้พิการทางสายตาเข้าใจลักษณะพื้นผิวของดาวเคราะห์มากขึ้นนอกเหนือจากการอ่านผ่านอักษรเบรลล์และฟังคำบรรยาย เมื่อทดลองใช้พบว่าสามารถสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์และเป็นที่ชื่นชอบของผู้พิการทางสายตา สำหรับเวทีนี้เป็นการเปิดโอกาสในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้คนที่สนใจเรื่องดาราศาสตร์หลากหลายหัวข้อได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลงานให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นางสาววรรษมน ตระกูลศิริศักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี เจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ เรื่องการศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อ Coronal Mass Ejection (CME) กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้มาเข้าร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ได้ทั้งความรู้ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ การทำโครงงานฯ นี้ช่วยให้เกิดกระบวนความคิดเป็นลำดับขั้นตอนมากขึ้น สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจ อยากชวนมาทดลองทำโครงงานดาราศาสตร์กันดู แม้ว่าการหาคำตอบจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะต้องเก็บข้อมูล รวบรวมและนำมาวิเคราะห์ แต่ก็สนุกและได้ความรู้ และเมื่อทำสำเร็จจะภูมิใจมาก เพราะเป็นผลที่เกิดจากการทำงานของตัวเองอย่างแท้จริง
ภายในงาน หลังการนำเสนอผลงานในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ยังมีงานเสวนาพิเศษ ซึ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปร่วมรับฟังในหัวข้อ “Mission to the Moon : ภารกิจสู่ดวงจันทร์” โดยวิทยากร ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่าสองร้อยคน
จากนั้น ผู้นำเสนอผลงานและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้เดินทางไปยังหอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อร่วมกิจกรรมสังเกตการณ์ภาคกลางคืน เรียนรู้วิธีการดูดาวเบื้องต้นและชมดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ โดยในคืนดังกล่าว ฟ้าใสไร้เมฆ ผู้ร่วมงานจึงได้ชมดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์อย่างเต็มตา เนื่องจากดาวทั้งสองดวงอยู่ในช่วงใกล้โลกที่สุดในรอบปีพอดี รวมถึงกระจุกดาวโอเมกาเซนทอรี และกลุ่มดาวต่าง ๆ เต็มฟ้า สร้างความประทับใจยิ่ง
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: [email protected] Website : www.narit.or.th
Facebook : www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313
ทรงวุฒิ ทับทอง