ศอ.ปกป.ภาค 3 ประชุมร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ที่ ศอ.ปกป.ภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ พลตรีชายแดน กฤษณสุวรรณ รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 มอบหมายให้ พันเอก พงษ์ยุทธ งามเกษม รองหัวหน้าศูนย์ควบคุมอากาศยานและดับไฟป่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมกับกองบัญชาการป้องกันและการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กรมป่าไม้ กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่
รองหัวหน้าศูนย์ควบคุมอากาศยานและดับไฟป่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้าเปิดเผยว่า กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ส่วนหน้า ที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2568 โดยจัดกำลังจาก 10 มณฑลทหารบก 4 กองพล และ 1 กองบัญชาการช่วยรบ รวมทั้งกองหนุนจากกรมทหารพรานที่ 35 และ กรมทหารพรานที่ 36 และบูรณาการอากาศยานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 7 ดอยซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายเปราะบาง ตลอดจนพื้นที่ควบคุมไฟป่า 14 กลุ่มป่า ซึ่งอยู่ในกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 12 กลุ่มป่า
ในช่วงที่ผ่านมาศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ได้จัดกำลังลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช จำนวน208 ชุดเพื่อปฏิบัติการป้องปรามการเผาป่าทั้งในกลุ่มป่าแม่น้ำปาย กลุ่มป่าศรีล้านนา กลุ่มป่าสะเมิง กลุ่มป่าสาละวิน รวมทั้งกลุ่มป่าตอนใต้จังหวัดเชียงใหม่และ กลุ่มป่าถ้ำผาไท กลุ่มป่าเวียงโกศัย-แม่วะ-ป้าแม่มอบ ซึ่งแต่ละกลุ่มป่าได้มีการจัดกำลังตามขนาดพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินงานในแต่ละลุ่มน้ำ ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2567 ถึง 24 ก.พ.68 ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 จัดชุดรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 9,384 ครั้ง ใช้กลไกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดฝ่ายทหารให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในพื้นที่จำนวน 3,936 ครั้ง และชุดลาดตระเวนลงพื้นที่ป้องปรามการเผาป่า จำนวน 5,043 ครั้ง.