กมธ.เกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเกษตรระดับจังหวัด ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นเกษตร และการพัฒนากลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
.
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานี คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการ รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนงานพัฒนาด้านเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีโครงการที่ขับเคลื่อนทั้งในรูปแบบของศูนย์เรียนรู้ และรูปแบบของเกษตรแปลงใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยวสัตว์ เช่น การเลี้ยงควายไทย การประมง การส่งเสริมปลูกพืชสมุนไพร และการอนุรักษ์ต่อยอดด้านหม่อนไหมให้เป็นอาชีพหลัก ตลอดจนได้ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ การวิจัย และเกษตรอัจฉริยะ มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน โดยมีสถานบันการศึกษาเข้าร่วมขับเคลื่อน ส่งเสริมการยกระดับสินค้าเกษตรแปรรูปและเกษตรอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน และขับเคลื่อนเกษตรชีวภาพ แนวทางการพัฒนากลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในรูปแบบกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรทั้งในส่วนกิจกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งปี และฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความสนใจเป็นหลัก
.
ในการนี้ คณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกต ประกอบด้วย 1.การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานควรจะต้องมีการสำรวจแหล่งน้ำเพื่อดูแลและพัฒนาให้สามารถกักเก็บน้ำได้และส่งน้ำได้ เพื่อยกระดับการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ประชาชนได้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า
รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนช่วยในการทำการเกษตร 2.การพัฒนาคุณภาพของผลผลิตด้านการเกษตรให้มีความโดดเด่น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและเพื่อดึงดูดความสนใจจากประชาชนทั่วไป รวมถึงการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 3.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดควรประชาสัมพันธ์ในการเข้าถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตร การฝึกอบรมการพัฒนาการเกษตร ที่มีการจัดอบรมหลักสูตรทั้งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 4.ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร 5.ควรให้การสนับสนุนและการจัดหาพันธุ์พืชที่ทนต่อโรคให้แก่เกษตรกร 6.ควรมีฐานข้อมูลการใช้สารเคมีภายในจังหวัด เพื่อการขับเคลื่อนและพร้อมที่จะพัฒนาด้านการเกษตรให้มีมาตรฐาน GAP และเพื่อประเมินความเสี่ยงของการทำการเกษตรของจังหวัด 7.ให้ความสำคัญการขับเคลื่อนระบบการเกษตรแปลงใหญ่ ใช้ศูนย์พัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์เครือข่ายเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จากเงินล้นระบบมาช่วยสนับสนุนกิจการของสหกรณ์ กองทุน กพส. ใช้ Agri-map เต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ 8.ควรมีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้ภาคการเกษตรสามารถขับเคลื่อนไปได้
.
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการได้มีข้อสังเกตการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานีเกี่ยวกับข้อจำกัดในการบริหารจัดการของโครงการฯ และการนำพืชแต่ละชนิดเข้ามาจัดภายในงาน ควรจะต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์แหล่งที่มาของพืช เพื่อป้องกันผลกระทบด้านพันธุ์พืชและศัตรูพืช
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน