ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวสมุทรปราการ ข่าวเด่น

บริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF

เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ร่วมกับ บริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด (MHG) จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP Report) โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอาร์ดีเอฟ (RDF) จำนวน 3 โรง ซึ่งมีการแปรรูปขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2568 เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ณ อาคารกองสวัสดิการสังคม ตึกผู้สูงอายุ ชั้น 3 เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF ของบริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด (MHG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ได้รับสัญญาให้สิทธิเอกชนดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF โดยก่อสร้างและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าร่วมกับเทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ ทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จำนวน 1 โรง และขนาดกำลังการผลิต 3.0 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง มีเป้าหมายในการแปรรูปขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและลดปัญหาขยะสะสมในพื้นที่ เดินหน้ามุ่งสู่การเป็นผู้นำในด้านการจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืนและแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP Report) โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอาร์ดีเอฟ (RDF) โดยมีวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อ ประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการ นำเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน และปรับปรุงมาตรการฯ ให้มีความครบถ้วนและรอบด้าน
การดำเนินการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ผู้นำชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนเข้าร่วม โดยครอบคลุมผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งโครงการและในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งการดำเนินโครงการยึดมั่นตามมาตรฐานที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดไว้ทุกด้าน


การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน หรือ Waste to Energy เป็นแนวทางของการลดปริมาณขยะที่ยังคงสะสม จากปัญหาขยะล้นเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญ และมองว่าปัญหาขยะมูลฝอยสะสมเป็นสิ่งที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2566 สถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมีประมาณ 26.95 ล้านตัน โดยมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรคิดเป็น 1.12 กิโลกรัม/คน/วัน และคาดว่าปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี

ในฐานะที่บริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด (MHG) ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด (EEP) ซึ่งเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมูลฝอยชุมชนกลับมาแปรรูปเป็นเชื้อพลิงพลังงานทดแทน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมดูแลชุมชนและสังคม ตามนโยบายของนายอบีนาช มาจี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่นำหลักการบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบระบบด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น กองเก็บเชื้อเพลิงในอาคารที่เป็นระบบปิดที่มีระบบป้องกันกลิ่นและฝุ่น, ออกแบบเตาเผาไหม้ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 850 – 1,200 องศาเซลเซียส ซึ่งลดการเกิดมลสารทางอากาศจากการเผาไหม้, ติดตั้งเครื่องมือลดมลสารทางอากาศ เพื่อควบคุมให้ได้ตามค่ามาตรฐาน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลสารทางอากาศแบบต่อเนื่องก่อนปล่อยออกปล่องระบายและแสดงผลตรวจวัดที่ป้ายหน้าโครงการ ตรวจวัดมลสารทางอากาศที่ปล่องระบายโดยหน่วยงานกลาง, เลือกใช้ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ ทำให้มีการใช้น้ำค่อนข้างน้อย และไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกสู่ภายนอก ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มบริษัท EEP มีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากขยะ RDF อยู่แล้ว 1 โรง คือบริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด (REEP) ซึ่งประกอบกิจการมาเป็นเป็นเวลา เกือบ 8 ปี โดยมิได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ ทางโรงไฟฟ้ายังได้มีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากที่กฏหมายกำหนด เพื่อสนับสนุนกิจกรรมชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

ตลอดจนในเรื่องของบ่อฝังกลบขยะได้มีการนำเทคโนโลยีบ่อขยะกึ่งใช้อากาศ หรือ Semi-Aerobic Landfill โดยติดตั้งท่อระบายก๊าซ และนำวัสดุเสมือนดินมาใช้ปิดคลุมบ่อขยะพร้อมด้วยแผ่นพลาสติก เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดก๊าซมีเทนและลดผลกระทบต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก การใช้เทคโนโลยีติดตามผลกระทบจากกลิ่น จากสถานีวัดกลิ่นออนไลน์ หรือ Electronic Nose (E-nose) โดยติดตั้งทั้งหมด 4 ทิศทางรอบบ่อขยะ และมีการติดตามผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบค่าความเข้มข้นของกลิ่นได้


เพื่อให้กลุ่มบริษัท EEP เดินหน้าสู่เป้าหมาย “Zero Waste Zero Landfill” จัดการขยะให้หมดสิ้น ไม่ว่าจะส่งต่อเพื่อรีไซเคิล การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ หรือแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ไม่ให้มีขยะหลงเหลือ กลุ่มบริษัท EEP จึงดำเนินตามแผนธุรกิจในการลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF โดยก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 3 โครงการ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท มหานคร กรีน เอเนอร์จี้ จำกัด การสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ยังมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย นอกจากนี้การดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ทั้ง 3 โครงการนี้ ยังได้รับการสนับสนุนและทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากการสนับสนุนของจังหวัดสมุทรปราการ เทศบาลเมืองแพรกษาใหม่ และหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ก๊วก สมุทรปราการ  รายงาน