23 มกราคม 2568 นางพะเยาว์ ทองศรี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี เปิดเผยหลังจากตรวจเยี่ยมการฝึกการประยุกต์ใช้ระบบโซล่าร์เซลล์เพื่องานการเกษตร ว่า ปัจจุบันกระแสความต้องการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือกมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ต้องการนำระบบโซล่าเซลล์มาใช้เพื่อการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งสอดรับกับแนวนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นลดภาวะโลกร้อน โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ดังนั้นจังหวัดปราจีนบุรี นำโดยนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี จึงเน้นย้ำให้มีการนำ พลังงานทดแทนมาใช้ให้มากขึ้น และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี ขานรับนโยบายดังกล่าว ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงเร่งขับเคลื่อนงานด้านการใช้พลังงานทดแทน จึงเปิดฝึกอบรมการประยุกต์ใช้โซล่าเซลล์ เพื่องานการเกษตร มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการในภาคการเกษตร สามารถนำความรู้เกี่ยวกับระบบโซล่าเซลล์ไปต่อยอดในภาคการเกษตรของตนเองได้ รวมถึงผู้ที่สนใจประกอบอาชีพในการรับเหมาการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ของภาคการเกษตร เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น
นางพะเยาว์ กล่าวต่อไปว่า จากการพูดคุยกับผู้เข้าฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้าฝึกอบรมประกอบอาชีพหลายด้าน มีทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ผู้รับเหมางานทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์ม กลุ่มชาวสวน ชาวไร่ และช่างทั่วไป รวม 20 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ความสนใจมาเข้าอบรมในครั้งนี้ด้วย ผู้เข้าอบรมแต่ละรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หลักสูตรนี้ดีมาก ได้เรียนรู้ตั้งแต่ระบบไฟฟ้า การต่อวงจร วิธีการติดตั้ง และการประยุกต์ใช้กับงานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถ้าต้องไปเรียนกับภาคเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท และอาจได้เรียนเพียงบางหัวข้อเท่านั้น เมื่อภาครัฐมีการจัดอบรมให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงบริการของรัฐมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาในจังหวัดปราจีนบุรีมีการจัดฝึกอบรมเรื่องโซลาเซลล์เพื่อการเกษตรน้อยมาก ดังนั้น จึงขอให้ สพร.30 ปราจีนบุรี พิจารณาจัดอบรมเพิ่มเติมในรุ่นต่อ ๆ ไป เนื่องจากมีกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน สมัครไม่ทันรอบนี้หลายคน ซึ่งการใช้โซล่าเซลล์มีความต้องการนำมาใช้ในภาคการเกษตรมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งคนใดที่ทำชำนาญแล้วยังสามารถผันตัวไปเป็นผู้รับจ้างติดตั้งเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ผู้สนใจเข้าฝึกอบรมในรุ่นต่อไป สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/share/1BH88a3Ucp/ หรือโทร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 037 290 380
นายโอภาส พิมพา(โอ ) อายุ 55 ปี อาชีพ ธุรกิจการเกษตรแบบผสมผสาน BCG. ภายใต้ สถาบันขั้นสูงเพื่อความมั่นคงทางอาหารแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินรินทร์ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า ทำการเกษตรทั้งพืชและปศุสัตว์ ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุนและต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชน ทราบข่าวว่า สพร.30 ปราจีนบุรี เปิดอบรมจากเพจของเกษตรอำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี ประชาสัมพันธ์การรับสมัคร ซึ่งตนเองเป็นเกษตรกรจึงติดตามข่าวสารของเกษตรอำเภอหรือจังหวัด เพื่อติดตามข่าวสารต่าง ๆ ที่ภาครัฐประชาสัมพันธ์จะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับอาชีพของตัวเอง ถึงแม้ครั้งนี้จะเดินทางมาไกล แต่คุ้มค่ามากเพราะเป็นการอบรมที่ไม่ได้เรียนเพียงภาคทฤษฎีเท่านั้น ยังได้ฝึกปฏิบัติ และการประยุกต์ใช้ได้ตามความต้องการในปัจจุบัน จึงเป็นกิจกรรมการอบรมที่ดี เข้าใจง่าย และหากนำ ระบบโซล่าเซลล์ไปใช้ในฟาร์ม คิดว่าจะลดต้นทุนกิจการได้ไม่น้อยกว่า 5%
คุณโอ กล่าวต่ออีกว่า ข้อดีของหลักสูตรนี้ คือ ทำให้เข้าใจกลไกการต่อระบบโซล่าเซลล์ เพื่อนำไปใช้งานและอยากให้ทั้งประชาชน เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร นำเอาองค์ความรู้ไปพัฒนาอาชีพ ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมต่อไปในประเทศไทย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สังคมไทยดีขึ้นในหลาย ๆ ด้านจากการได้มีผู้เข้าร่วมอบรมมากขึ้น ความสำคัญอีกประการคือ ปัจจุบันในสภาวะโลกร้อน ทุกคนต้องลดการใช้พลังงานที่สิ้นเปลือง ควรนำเอาพลังงานสะอาดจากธรรมชาติมาใช้ โดยเฉพาะ green and clean energy ซึ่งจะมีต้นทุนถูกลงและทำให้มลพิษลดลงด้วย/////////อลงกรณ์ คุณกิตติมานนท์ 087-878-9225 ปราจีนบุรี