สำนักงานจัดหางานจังหวัดพังงา จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และองค์กรภาคีเครือข่าย ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ โดยมีนางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธาน ณ ห้องประชุมเขาหลักฮอล์ล โรงแรมซีวิว รีสอร์ท เขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
นายวิริยะ ทองเหลือ จัดหางานจังหวัดพังงา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อ เสริมสร้างความเข้าใจในระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจน การประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และอาสาสมัครแรงงาน จำนวน ๑๐๐ คน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจโรคต้องห้าม ตามกฎกระทรวง ทำประกันสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข การจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และตรวจลงตรา (VISA) หรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน และสิทธิประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียน การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ และบทกำหนดโทษตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
จังหวัดพังงา มีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานต่างด้าว ๓ สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) จำนวน ๕,๐๑๗ แห่ง มีแรงงานต่างด้าว จำนวน ๒๓,๓๔๓ คน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการเกษตรและปศุสัตว์, ก่อสร้าง, ประมง, การให้บริการต่าง ๆ และกิจการต่อเนื่องการเกษตร ตามลำดับ
นางสาวนิรชา บัณฑิตย์ชาติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ทั้งในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ก่อสร้าง ประมง การให้บริการต่าง ๆ และกิจการต่อเนื่องการเกษตร ภาครัฐได้แก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคง และความเชื่อมั่นของประเทศ ในการใช้แรงงานต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม) ด้วยการนำเข้าแรงงานต่างด้าว ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน หรือ MoU และผ่อนผันให้แรงงานที่สิ้นสุดระยะเวลาการอยู่และทำงานในราชอาณาจักร และแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองและลักลอบทำงานอยู่ ให้ขึ้นทะเบียนและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตามคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง
ดังนั้น นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ จึงจำเป็นต้องศึกษาขั้นตอนวิธีการใช้งานระบบให้เข้าใจ และดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานอยู่ในประเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สนับสนุนการดำเนินการเขตปลอดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รวมทั้งป้องกันและลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าว