ถอดรหัสความสำเร็จ กับ 1 ทศวรรษของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567
ปิดฉากลงอย่างสวยงามกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 หรือ Chiang Mai Design Week 2024 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 สำหรับปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery” ที่ขยายบทบาทของท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพพลังสร้างสรรค์ของนักออกแบบ ซึ่งที่ผ่านมาตลอด 10 ปี เทศกาลฯ มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤติโรคระบาด กระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น โดยปีนี้ยังคงได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม เทศกาลฯ ดึงดูดผู้เข้าร่วมในประเทศและต่างประเทศกว่า 178,212 คน จึงนับเป็นการส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมืองได้จริงทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ไม่ใช่แค่งานแสดงความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ แต่คือพลังขับเคลื่อนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เทศกาลฯ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงผู้คน และเพิ่มมูลค่าให้กับทุนวัฒนธรรมในชุมชน จนเกิดผลกระทบเชิงบวกในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ปลุกกระแสความตื่นตัวในภูมิภาค ทำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของงานสร้างสรรค์ในฐานะเครื่องมือสำคัญสำหรับพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนอีกด้วย และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เราเชื่อมั่นว่าเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่จะก้าวต่อไปสู่การเป็นหนึ่งในเทศกาลสร้างสรรค์ที่โดดเด่นที่สุดในระดับโลก”
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ส่งผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ ในแต่ละปี เทศกาลฯ จะสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ผ่านธีมของการจัดงาน ซึ่งสะท้อนจากเทรนด์และบริบทของสังคมโลกในแต่ละช่วง และในปีนี้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology, And Sustainability – For Reviving Recovery” ได้ช่วยต่อยอดฐานทุนที่มีอยู่ในชุมชนทั้งทุนทางภูมิปัญญา และทุนทางทรัพยากรที่มีศักยภาพ ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ผ่าน ‘3 เสาหลัก’ อย่าง Creativity, Technology, และ Sustainability โดยปีนี้เทศกาลฯ ได้ตอบสนองต่อประเด็นท้องถิ่น ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสังคม ซึ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ
1. ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อโอกาสของกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ (Business Issue)
เทศกาลฯ กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) และการพัฒนานวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ LABBfest. เทศกาลดนตรีที่เปิดพื้นที่ให้นักดนตรีในภาคเหนือและต่างประเทศโชว์เคสผลงานดนตรีต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรี เช่น โปรโมเตอร์และเจ้าของค่ายเพลงในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสเชิงพานิชย์และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอนาคต Super Slow นิทรรศการงานคราฟต์ที่เฉลิมฉลองศิลปะแห่งความสงบในรูปแบบ Slow Economy สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ ขณะเดียวกัน นิทรรศการ Floral Wonders: The Journey of a Blooming Economy แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจดอกไม้และพฤกษศาสตร์ที่เติบโตของภาคเหนือและสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ โปรแกรม Thailand’s Taste of Tomorrow The REGIONALS ยังส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น ด้วยการผสมผสานภูมิปัญญาเข้ากับนวัตกรรมอาหาร เพื่อยกระดับเศรษฐกิจอาหารในภูมิภาค เทศกาลยังสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจใน POP MARKET ตลาดงานคราฟต์ซึ่งสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
2. ยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Issue)
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ยังช่วยผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก เช่น นิทรรศการ TASTE TRAIL LANNA ที่ส่งเสริมอาหารล้านนาให้เป็นสินค้าและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Gastronomy Tourism) พร้อมทั้งโครงการ SCALING UPCYCLING ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะโดยนำเสนอไอเดียอัปไซเคิล เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์จากกากกาแฟ และอีกหนึ่งความโดดเด่นคือ Start from Rice ซึ่งเป็นโปรแกรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักสร้างสรรค์ในพำนัก (Homecoming Creators and Oversea Creators Collaboration in Residency Program) ที่เชื่อมโยงนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นและนานาชาติในการแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนางานศิลปะที่ตอบโจทย์ตลาดโลก
3. เสริมสร้างการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Social Issue)
เทศกาลฯ ยังได้เน้นบทบาทการออกแบบในการสร้างความตระหนักรู้ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น Ready Set Old: แก่ ดี มีสุข นิทรรศการที่สำรวจศักยภาพของเชียงใหม่ในการเป็นเมืองที่รองรับไลฟ์สไตล์ผู้สูงวัย สอดคล้องกับแนวคิดบลูโซนระดับโลก โปรเจ็กต์ ลานพลังสร้างสรรค์ (Urban Symphony) โปรเจ็กต์ที่แปลงพลังงานจากกิจกรรมชีวิตประจำวันให้เป็นพลังงานสะอาด พร้อมส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “Water Is Life’s Mirror – ชีวิตสะท้อนผ่านน้ำ” ที่พูดถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างชุมชนกับธรรมชาติ และอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ เขาวงกตวัดเจ็ดลิน ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน โดยความร่วมมือจากวัดเจ็ดลิน เพื่อเสริมสร้างมิติใหม่ของความคิดสร้างสรรค์ในพื้นที่ท้องถิ่น
4. ฟื้นฟูเมืองและเสริมสร้างชีวิตชีวา
เทศกาลฯ ได้ยกระดับทรัพยากรท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก โดยเน้นการปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการต่าง ๆ การริเริ่มดังกล่าวได้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เจ้าของพื้นที่ เช่น การชุบชีวิต ตึกมัทนา อาคารพาณิชย์ยุคโมเดิร์นย่านช้างม่อย ให้กลับมามีชีวิตด้วยนิทรรศการและกิจกรรมสร้างสรรค์กว่า 32 โปรแกรม ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ด้วย
ก้าวย่างปีที่ 11 กับการเตรียมพร้อมทะยานขึ้นเป็นเทศกาลระดับโลก เป้าหมายต่อไปของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ คือการยกระดับเทศกาลให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยก้าวย่างปีต่อ ๆ ไปของเทศกาลฯ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากิจกรรมตามเทรนด์และบริบทของเมือง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้ชมและนักท่องเที่ยวที่มีส่วนร่วมกับงานอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น นักออกแบบ ศิลปิน ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนรักษามาตรฐานระดับสูงของเทศกาล เพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่อไปและขยายความสำคัญของเทศกาลในระดับโลก
นางสาวอิ่มหทัย กันจินะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่กำลังก้าวไปสู่มาตรฐานใหม่ที่ผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เทศกาลฯ ยังเสริมความแข็งแกร่งในฐานะสมาชิกของเครือข่าย World Design Weeks สะท้อนถึงศักยภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เป้าหมายสำคัญคือการสร้างการเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับผู้คนทั่วโลก โดยต้องสร้างมาตรฐานกิจกรรมที่ตอบโจทย์ในระดับสากล เสริมความแข็งแกร่งของเครือข่าย ทำให้ผู้เข้าร่วม “อิน” กับแนวคิดและคุณค่าของงานสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก เช่นเดียวกับ Milan Design Week ในอนาคต”.