Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

(มีคลิป) ทน.เชียงใหม่ลงนาม MOU เปิดตัวโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ

ทน.เชียงใหม่ลงนาม MOU เปิดตัวโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ


เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการ พัฒนาเมืองเชียงใหม่ (URC) พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและเปิดตัวโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ โดยมีนายภวฤทธิ์ กาญจนเกตุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายณปวันชัย กุลฉัตรฐานนท์ กรรมการที่ปรึกษาเครือข่ายเขียวสวยหอม และผู้แทนเครือข่าย “เขียว สวย หอม” ร่วมลงนามความร่วมมือ พร้อมด้วยสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีลงนาม MOU ในครั้งนี้


โดยภายในงานมีการเปิดวิดีทัศน์แนะนำโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ หลังจากนั้น นายภวฤทธิ์ กาญจนเกตุ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวถึงเป้าหมาของการบันทึกความร่วมมือ เปิดตัวโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ โดยมี นายณปวันชัย กุลฉัตรฐานนท์ กรรมการที่ปรึกษาเครือข่ายเขียวสวยหอม กล่าวถึงภาคีเครือข่ายความร่วมมือโครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่คาร์บอนต่ำ

หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชน ได้ร่วมเปิดเส้นทางเที่ยวชมเมืองคาร์บอนต่ำ รอบปฐมฤกษ์ “เขียวชมเมืองคาร์บอนต่ำ” พร้อมชมเส้นทางเที่ยวชมจากศูนย์ URC – วัดเจดีย์หลวง – 4 แจ่ง 5 ประตูเมืองเก่า – เดินชมกาดมิ่งเมือง ชุมชน และวัดล่ามช้าง ซึ่งการนั่งรถเขียวชมเมืองคาร์บอนต่ำ รื่นรมย์กับต้นไม้ และชุมชนย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ ผ่านโครงการเขียวชมเมือง โดยความร่วมมือของเทศบาลนครเชียงใหม่ กับเครือข่ายเขียวสวยหอมหอม ครับ โดยเส้นทางของเราวันนี้นะครับ เริ่มต้นศูนย์ URC – วัดเจดีย์หลวง – 4 แจ่ง 5 ประตูเมืองเก่าเชียงใหม่ – เดินชมกาดมิ่งเมือง ชุมชน และวัดล่ามช้าง โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ภูเดช แสนสา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์อาสาในการนั่งรถเขียวชมเมืองคาร์บอนต่ำ ชมนิเวศประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

รถชมเมืองไฟฟ้าคันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจการเขียวสวยหอมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เขียว คือ ต้นไม้ใหญ่น้อย พื้นที่สีเขียวในเมืองเชียงใหม่ และรอบ ๆ เชียงใหม่ สวย ก็คือ ความสวยงามของธรรมชาติ และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมกับพื้นที่เมือง หอม ก็คือ กลิ่นหอมของแมกไม้ ความสะอาด เสน่ห์ของผู้คน และวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดย เขียวชมเมืองคาร์บอนต่ำของเรา มีหน้าที่ที่จะคอยดูแลรักษา ต้นไม้ ธรรมชาติ ในเชียงใหม่ ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงใหม่ ชุมชน และภาคีเครือข่าย รายได้จากกิจการเขียวสวยหอมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะนำไปสนับสนุนในการดูแลต้นไม้และหนุนเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน ทำนุบำรุง และคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมล้านนาอันดีงามของเมืองเชียงใหม่

เส้นทางการท่องเที่ยวของเราวันนี้ จะเริ่มต้นหน้าศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ (The Urban Redevelopment Chiang Mai City) หรือ URC ซึ่งทางเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้จัดสร้างศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางในการระดมสมองในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถเข้าใช้พื้นที่ของศูนย์ URC สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือ เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนด้านขวามือของทุกท่านคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เป็นอนุสาวรีย์ของสามกษัตริย์ผู้สร้างเมือง ได้แก่ พญามังราย พญางำเมือง และพญาร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง โดยพ่อขุนรามคำแหงช่วยพระญามังรายวางแผนสร้างเมืองนี้ ด้านหลังของอนุสาวรีย์นี้คือ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหอศิลป์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และศิลปะเพื่ออนุรักษ์มรดกท้องถิ่น

เมื่อผ่านสี่แยกกลางเวียงแล้ว ด้านซ้ายคือ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชน คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ในการวิจัย จัดเก็บ และเผยแพร่ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมล้านนา และศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่อง มีที่ทำการ ณ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ซึ่งเป็นอาคารเก่าอายุประมาณ 130-140 ปี ซึ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ได้รับบริจาคจากคุณเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล และอาจารย์จุลทัศน์ กิติบุตร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2544

ด้านขวามือคือ วัดพันเตา วัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ใกล้กับวัดเจดีย์หลวง แต่เดิมชาวเชียงใหม่เรียกว่า “วัดปันเต้า” หรือ “วัดพันเท่า” หมายถึง การทำบุญเพียงหนึ่ง แต่ได้ผลบุญย้อนกลับเป็นพันเท่า แล้วจึงเพี้ยนมาเป็นพันเตา ภายในวัดจะมีเจดีย์ 18 ยอดและวิหารไม้สักทองตามศิลปะเชียงแสน ซุ้มประตูประดับด้วยไม้แกะสลักรูปนกยูง ภายในวิหารประดิษฐานพระเจ้าปันเตา ศิลปะล้านนา เป็นพระประธาน

ในทริปพิเศษวันนี้ เขียวชมเมืองจะพาชมวัดเจดีย์หลวง เป็นวัดที่มีเจดีย์ที่สูงที่สุด ภายในวัดมีต้นยางนาที่ใหญ่มากต้นหนึ่ง อายุราว 200 ปี สมัยก่อน ใช้เป็นต้นไม้หมายเมือง เพื่อนำทางผู้คนเข้าสู่ใจกลางเมือง

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 ของราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ.1928-พ.ศ.1945 วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณมีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้าง 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันบริเวณวัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่มีสิ่งสักการะหลากหลาย ได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤาษี ซึ่งสะท้อนพัฒนาการคติจักรวาลได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมืองชีวิต วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต พระประจำคู่บ้านคู่เมืองของไทย

วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. 2088 ความสูงของเจดีย์ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของความสูงเดิม แต่ก็ยังคงรูปลักษณ์ที่สวยงามน่าประทับใจ ในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ตัวเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ จึงได้นำเอาบันไดนาคปรก (พญานาคพ่นน้ำ) กลับมาวางไว้ตรงทางขึ้นและมีการปั้นรูปช้างอันสวยงานไว้ที่บริเวณฐานของเจดีย์ ทั้งนี้งานปั้นนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ

ประตูท่าแพ เป็นประตูเดียวที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ประตูนี้ถือเป็นประตูเศรษฐกิจของเมือง คำว่า ท่าแพ หมายถึง ท่าของแพ ในสมัยก่อน ท่าน้ำจะอยู่ที่แม่น้ำปิง นักเดินทางจะจอดแพหรือเรือไว้ที่ท่าน้ำและเข้าเมืองที่ประตูนี้ ประตูนี้ถือว่าเป็นจุดท่องเที่ยว และแลนด์มาร์คที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้น เนื่องจากประตูนี้เป็นประตูที่เปิดตลอดเวลาจึงมีความเชื่อว่า ประตูนี้จะเปิดรับเงินทองและความโชคดี และเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีเข้าสู่ตัวเมืองจะมี “ตะแล๋ว” ที่ทำจากไม้ไผ่สาน ทำหน้าที่เหมือนยันต์ แขวนตรงประตูทางเข้า

โดยจุดประวัติศาสตร์แรกที่เรากำลังผ่าน ก็คือ ประตูสวนดอก อยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง เป็นทิศที่มีดอยสุเทพ และยังเป็นประตูที่ กษัตริย์ในสมัยนั้น ใช้เดินทางเพื่อไปยังสวนดอกไม้ของพระองค์ คำว่า “สวนดอก”หมายถึง สวนดอกไม้ เป็นประตูสู่ อุทยานของกษัตริย์ ซึ่งเต็มไปด้วยสวนดอกไม้และต้นพะยอม ซึ่งปัจจุบัน เป็นโรงพยาบาลสวนดอก และก็มีวัดสวนดอก ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญทางพระพุทธศาสนา

แจ่งแรกที่เราจะผ่านคือ แจ่งกะต๊ำ เป็นจุดต่ำสุด น้ำเยอะที่สุด ในสมัยก่อนปลาจะเยอะมาก คนสมัยก่อนก็จะมาหาปลากันตรงจุดนี้ โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า กะต๊ำ จึงเป็นที่มาของชื่อแจ่งนี้ว่า แจ่งกะต๊ำ

ประตูเชียงใหม่ ในอดีต ใช้เป็นประตูสำหรับให้ผู้คนเดินทางไปยังเมืองอื่น และสำหรับคนต่างถิ่นที่เดินทางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ เป็นประตูแรกสู่เมืองเชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของชื่อประตูเมือง

ประตูแสนปรุง คนสมัยนี้จะเรียกประตูแสนปรุงเพี้ยนไปจะเรียกกันว่า ประตูสวนปรุง ตามชื่อโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ประตูแสนปรุง หรือ ประตูผี คือสร้างขึ้นเพื่อขนศพไปเผานอกเมือง จะเห็นได้ว่าในเขตเมืองเก่าจะไม่มี ที่เผาศพ จึงต้องมีการนำศพออกทางประตูนี้เพื่อ ไปเผาทางด้านนอกเขตเมืองเก่า และทิศนี้ยังถือ ว่าเป็นทิศไม่ดีการค้าขายในด้านนี้จะไม่ค่อยมี จากประตูแสนปรุงไปถึงแจ่งกู่เฮือง

สวนบวกหาด เป็นสวนสาธารณะ เปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 3 ทุ่ม บวก หมายถึง แอ่งน้ำ หาด เป็น ต้นไม้ประเภทหนึ่ง ข้างในสวนมีอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย มีอาหารท้องถิ่นขาย เป็นที่ที่ผู้คนมาปิคนิกกับเพื่อนและครอบครัว

แจ่งกู่เฮือง เป็นทิศกาลกินี ตรงนี้จะไม่มีการทำการค้าใดๆเลย แจ่งกุ่เฮือง ซึ่งเป็นแจ่งที่อยุ่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ กู่หมายถึง ที่ใส่กระดุก เฮือง เป็นชื่อทหารที่ดูแลนักโทษคนสำคัญสมัยของพญาเม็งราย เมื่อนายเฮืองตายได้นำกระดุกมาฝังที่แจ่งนี้เพราะ พื้นที่แจ่งนี้เคยเป็นบ้านของนายเฮือง จึงเป็นที่มาของชื่อแจ่ง

ประตูสวนดอก อยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง เป็นทิศที่มีดอยสุเทพ และยังเป็นประตูที่ กษัตริย์ในสมัยนั้น ใช้เดินทางเพื่อไปยังสวนดอกไม้ของพระองค์ คำว่า “สวนดอก”หมายถึง สวนดอกไม้ เป็นประตูสู่ อุทยานของกษัตริย์ ซึ่งเต็มไปด้วยสวนดอกไม้และต้นพะยอม ซึ่งปัจจุบัน เป็นโรงพยาบาลสวนดอก และก็มีวัดสวนดอก ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญทางพระพุทธศาสนา

“แจ่งหัวลิน” มีประวัติว่า พญามังรายได้ขุดคลองนี้ขึ้นมาเพื่อใช้เก็บน้ำ แต่ไม่มีน้ำไหลเข้ามา พระองค์จึงได้ทำร่องน้ำเผื่อผันน้ำจากน้ำตกห้วยแก้วตรงดอยสุเทพ ลงมาผ่านแจ่งนี้เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค ต้นไม้สูงๆ ด้านซ้ายมือของเราคือต้นลาน สมัยก่อนเราใช้ใบลานในการจารึกตัวหนังสือ ต้นลานเหล่านี้มีอายุ 70-80 ปีแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่ดอกของต้นลานบาน ต้นลานก็จะยืนต้นตาย ต้นลานเป็นต้นไม้ดั้งเดิม ที่คนล้านนาทราบดีว่านำมาใช้ในการบันทึกเรื่องราวพระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ธรรมชาดกประวัติศาสตร์ ประเพณีพิธีกรรม องค์ความรู้ภูมิปัญญาในด้านต่าง ๆ

ประตูช้างเผือก ทิศเหนือถือเป็นทิศมงคลที่สุดของเมือง เพราะถือว่าเป็นทิศแห่งชัยชนะของพระพญามังราย ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคลที่จะนำความสุขมาสู่บ้านเมือง ประตูช้างเผือกสมัยก่อนใช้ในการออกรบ ประตูดังกล่าวจะเป็นจุดรวมพลของทหารตั้งขบวนรบ มีวงมโหรี ตีกลองสะบัดชัยเรียกขวัญกำลังใจแก่ทหาร และถือว่าประตูดังกล่าวเป็นประตูของกษัตริย์ ในปัจจุบันนี้เวลารับตำแหน่งของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะผ่านประตูนี้เข้าไปเมือง เพื่อถือความเป็นสิริมงคลก่อนการปฏิบัติราชการ

วัดที่อยู่ทางซ้ายมือของเราคือ วัดป่าเป้า วัดนี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบเมียนมาร์ ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้คือคนไทยใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มฉานในประเทศเมียนมาร์

แจ่งศรีภูมิ แจ่งนี้ถือว่าเป็นแจ่งแห่งจิตวิญญาณของชาวล้านนา มีความสำคัญเพราะว่าพญามังราย เมื่อครั้งเริ่มสร้างเมือง พระองค์ทรงขุดแจ่งนี้เป็นที่แรก และทรงใช้ดินจากการขุดมาใช้สร้างกำแพงและใช้ก้อนอิฐประสานไว้ด้วยกัน

ต้นไม้ที่เรากำลังผ่านเรียกว่าต้นโพธิ์ หรือคนล้านนาเรียกว่า ต้นสะหลี เชื่อกันว่าต้นโพธิ์หรือต้นสะหลี เป็นสัญลักษณ์ของความสุข ความสำเร็จและชีวิตที่ยืนยาว คนจึงนิยมผูกผ้ารอบ ๆ ต้นโพธิ์ไว้ คำว่า สะหลี ถ้าเทียบกับคำไทย คือ ศรี แปลว่าเป็นเกียรติเป็นศรี ภูมิแปลว่าแผ่นดิน ซึ่งแจ่งนี้ตั้งชื่อตามทิศของเมือง ความสำคัญของแจ่งศรีภูมิคือ เป็นแจ่งแรกในการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระญามังราย แจ่งศรีภูมิถือเป็นหัวใจของเมือง หลายครั้งก่อนจะมีการรบก็จะมีการบนบานศาลกล่าวเสมอ ตอนนี้ก็ยังมีศาลหลักเมืองอยู่ คนล้านนามีความเชื่อว่า การบูชาผีจะมีการสร้างบ้านเล็ก ๆโดยมีรูปเคารพ

ตลาดมิ่งเมือง หรือ กาดสมเพชร เป็นตลาดโถงไม้โบราณขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในเขตเมืองเก่าในเมืองเชียงใหม่ ดำเนินกิจการการค้าขายอย่างตลาดสด ที่คงรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ทั้งตัวโถงตลาดและอาคารห้องแถวไม้และปูนอายุราว 80 ปี เอาไว้อย่างสมบูรณ์ พร้อมไปกับการสืบสานคุณค่าความสัมพันธ์ทางสังคมแบบคนเมืองบะเก๋า(คนเหนือ) ความเป็นเครือญาติ เป็นเพื่อนพี่น้อง การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน

ชุมชนล่ามช้างจากวันวานในอดีตที่เคยเป็นสถานที่เลี้ยงช้าง ก็กลายมาเป็นชุมชนอยู่อาศัยย่านล่ามช้างในปัจจุบัน พื้นที่ขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยความสงบสุขแห่งนี้ เป็นทั้งศูนย์รวมศิลปะเก่าแก่ และอุดมไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เกสต์เฮาส์ และธุรกิจแวดล้อมอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งถืออีกหนึ่ง “ย่านสโลว์ไลฟ์” ที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจและมาเยือนตามคำบอกเล่าค่อนข้างมาก เพราะสามารถมาทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายได้มากมายในชุมชน

ย่านล่ามช้างถูกเชื่อมต่อกันโดยตรอกซอกซอยเล็ก ๆ บริเวณรอบวัด สามารถเดินเชื่อมกันได้ตั้งแต่ซอย 4 ถึงซอย 9 แต่ละซอกซอยล้วนมีเสน่ห์แห่งศิลปะที่ซ่อนอยู่บนกำแพง กลุ่มศิลปินท้องถิ่นได้ร่วมมือกันวาดลวดลายขึ้นเพื่อบอกเล่านิทานพื้นบ้านและวิถีชีวิตของชุมชนเมืองเชียงใหม่ และยังได้เชื่อมโยงกับมุมมองและการใช้ชีวิตสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

จะเห็นได้ว่าแม้ล่ามช้างจะมีความเป็นชุมชนเก่าแก่ แต่ก็ยังมีความพยายามทำให้เป็นพื้นที่ร่วมสมัยมากขึ้น โดยไม่ละทิ้งเสน่ห์แบบดั้งเดิม นี่จึงทำให้ล่ามช้างเป็นมากกว่าชุมชนอยู่อาศัย ทว่าได้กลายมาเป็นพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ที่รวมความเก่าและใหม่เอาไว้ด้วยกันในส่วนผสมที่พอดี ทั้งกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ที่สามารถพบเห็นธุรกิจได้แทบทุกประเภทอยู่ในย่าน ซึ่งต่างยินดีต้อนรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาเยี่ยมเยียนและนำความสุขกลับไป มีทั้งร้านอาหารพื้นเมือง ร้านอาหารทั่วไป และคาเฟ่สายอาร์ต ที่นับเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์สายสโลว์ไลฟ์โดยแท้จริง (ข้อมูลจาก ‘คิด’) ภายหลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนได้เดินถึงวัดล่ามช้าง ชมการตัดแต่งต้นโพธิ์วัดล่ามช้าง โดยทีมรุกขกรเชียงใหม่ 10 นาที-รถชมเมืองกลับไปยังศูนย์ URC.