ศรีสะเกษ สธ.ห่วงใยประชาชนกลับบ้านปีใหม่ปลอดภัย หนุนมาตรการป้องปราม “ดื่มแล้วขับ”
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายวันชัย เหล่าเสถียรกิจ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ พญ.เพิ่มศิริ เลอมานุวรรัตน์ ผอ.รพ.ศรีสะเกษ และผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 10 ได้เดินทางมาเยี่ยมผู้ป่วยกรณีรถฉุกเฉิน รพ.อภัยภูเบศ จ.ปราจีนบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถพ่วง 10 ล้อ ขณะเดินทางมาส่งผู้ป่วยที่ รพ.ขุขันธ์ และร่วมกันแถลงข่าว “สธ.ห่วงใย เที่ยวปีใหม่ปลอดภัย สุขใจทั้งครอบครัว” ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนมาตรการป้องปรามผู้ดื่มแล้วขับ โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ร่วมกับ สานักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส. จัดทำโครงการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ ในกรณีที่เหตุนั้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ตลอดปี 2562 เพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุราทุกราย ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการทั่วประเทศ
นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อมบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการ โดยแจ้งเหตุเร็ว ขยายคู่สายแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 เป็น 300 คู่สายทั่วประเทศ รับเร็ว ใช้ชุดปฏิบัติการ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่าง ๆ ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของการออกเหตุทั้งหมด ส่งเร็ว ส่งต่อถึงมือแพทย์ในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในกรณีที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ รวมทั้งเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู อุปกรณ์ต่าง ๆ และระบบส่งต่อ พร้อมดูแลหากเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วยต้องได้มาตรฐานตามที่กำหนดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ทั้งนี้ กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ.2560 ออกตามความใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดไว้ว่า หากพบว่าผลการตรวจวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ หรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่มีค่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือกรณีผู้ขับขี่ที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถ หรือผู้ขับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถแบบชั่วคราว มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ให้ถือว่าเมาสุราเช่นกัน. ศิริเกษ หมายสุข / ศรีสะเกษ