ชาวท่าแลงสุดทน ยื่นฟ้องศาลปกครองเพชรบุรี ให้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบ่อขยะท่าแลงที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญมานานนับสิบปีแล้ว
วันนี้เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ 24 ธ.ค.61 นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี พร้อมด้วยนายอนุวัต เวชสว่าง แกนนำชาวบ้านตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พร้อมตัวแทนชาวบ้านรวม 38 คน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเพชรบุรี ฟ้องนายสงวน จิตต์พุ่ม นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง และเทศบาลตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี กรณีอนุญาตให้บริษัทดับเบิลยูพีจีอี เพชรบุรี จำกัด เป็นผู้รับดำเนินโครงการบริการจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยอนุญาตให้ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท บ่อขยะ ขึ้นที่เลขที่ 198 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง
โดยมีการใช้พื้นที่ของเอกชนเป็นบ่อรับขยะ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นของขยะที่ถูกนำมากองทิ้งไว้นับสิบปีมีปริมาณหลายแสนตัน ทำให้เกิดผลกระทบจากน้ำเสียทำให้น้ำใต้ดินใช้ไม่ได้ ผลกระทบจากรถที่วิ่งบรรทุกขยะเข้ามาทิ้งทั้งกลางวันและกลางคืน ประกอบกับมีการนำขยะจากต่างจังหวัดเข้ามาทิ้งโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นขยะพิษ ขยะอุตสาหกรรมหรือขยะติดเชื้อ สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง
นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า บ่อขยะแห่งนี้ เป็นของเอกชนที่นายกเทศมนตรีตำบลท่าแลงอนุญาตให้มีการนำขยะมาทิ้งและกำจัดแต่ตั้งแต่เปิดบ่อขยะมา ไม่มีการฝังกลบแต่ประการใด ทั้งกลิ่นและรถบรรทุกขยะที่วิ่งขนขยะเข้ามาทิ้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญ
ชาวบ้านร้องเรียนไปในทุกระดับก็ไม่เป็นผลมีการแก้ไขเป็นครั้งคราวก็ต่อเมื่อชาวบ้านร้องเรียนไป การอนุญาตทราบว่า นายกเทศมนตรีเป็นผู้ไปทำสัญญากับเอกชนโดยไม่ผ่านสภาเทศบาลตำบลท่าแลงให้ความเห็นชอบ เรียกว่า อนุญาตโดยพลการไม่เป็นไปตามกฎหมาย วันนี้ชาวบ้านจึงต้องมาพึ่งศาลปกครองเพชรบุรี เพื่อให้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาต และให้ขนย้ายขยะทั้งหมดออกจากพื้นที่ไป ซึ่งตนเองเชื่อว่าศาลปกครองจะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านเนื่องจากเป็นที่พึ่งสุดท้ายแล้ว
นายอนุวัต เวชสว่าง ตัวแทนชาวบ้านท่าแลง เผยว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาหลายสิบปีแล้ว ไปร้องเรียนมาทุกที่ ทุกแห่งแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านให้คลายความเดือดร้อนได้เลย แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทั้งสิ้น เทศบาลตำบลท่าแลงเองซึ่งตัวนายกเทศมนตรีเป็นคนไปออกใบอนุญาต ก็ไม่สามารถควบคุมดูแลให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่พ.ร.บ.การสาธารณสุข บัญญัติไว้ กลับละเลยไม่กำกับให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งหากไม่สามารถให้ผู้รับใบอนุญาตแก้ไขได้ก็ควรต้องยกเลิกใบอนุญาตและกลับละเลย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาพึ่งศาลปกครองให้มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากออกให้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและตัวเทศบาลเองก็ละเลยไม่กำกับดูแลให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ทั้งยังปล่อยให้มีการฝ่าฝืนนำขยะจากนอกจังหวัดเข้ามาทิ้งเพิ่มในพื้นที่ด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ทางชาวบ้านก็จะไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดเพชรบุรี เพื่อให้ดำเนินการในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เนื่องจาก นายกเทศมนตรีไม่มีอำนาจในการไปทำสัญญากับเอกชนโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาเทศบาลต่อไปอีกด้วย
ทีมข่าว-เพชรบุรี