ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารรับมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับเพื่อมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ใช้ในการศึกษาของคนทุกช่วงวัย
เมื่อวันที่23 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ห้องจูปิเตอร์ 12 อาคารชาเลนเจอร์ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทาน โดยมีนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารพร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดรับมอบเพื่อนำไปมอบให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ เพื่อใช้ในการศึกษา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 จำนวน 9,287 เล่ม แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เชิญไปมอบให้กับสถานศึกษาในพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อไป โดย “สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 44 ฉบับพระราชทาน” เล่มนี้ มีสาระที่น่าสนใจรวม 8 เรื่อง ได้แก่ 1. ลิเกป่า (แขกแดง) มีเนื้อหาว่าเป็นการอธิบายถึงการแสดงพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยมุสลิมในชนบทภาคใต้ที่เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาวอาหรับหรือ “แขกเจ้าเซ็น” และเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายเข้าด้วยกัน 2. กลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีเนื้อหาว่าม้งเป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาคเหนือของเมียนมา ลาว เวียดนาม และไทย ที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์เชื่อมต่อกันทำให้มีวัฒนธรรมประเพณีบรรทัดฐานภาษาและความเชื่อในแนวเดียวกัน 3. วิทยาศาสตร์การกีฬา มีเนื้อหาว่า เป็นการอธิบายถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์โดยนำหลักวิชาการต่าง ๆ เช่น การกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยาและการออกกำลังกาย การแพทย์ โภชนาการ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นต้น นำมาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย การฝึกซ้อมกีฬา และแข่งขันกีฬา ตลอดจนการดูแลสุขภาพร่างกายอย่างเป็นขั้นตอนอย่างสม่ำเสมอ 4. โลมาสีชมพู มีเนื้อหาว่า เป็นโลมาที่อาศัยอยู่ในทะเลตามแนวชายฝั่ง พบบ่อยที่ชายทะเลภาคใต้ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโลมาชนิดนี้ตอนอายุน้อยจะมีสีเทาเหมือนโลมาทั่วไป แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมชมพูเกือบตลอดทั้งตัวซึ่งสามารถเป็นเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยได้เป็นอย่างดี 5. แมลงทับ มีเนื้อหาว่า เป็นแมลงประเภทด้วงตัวโต มีปีกสีเขียวมรกตเหลือบทองแดงเป็นประกายแวววาวซึ่งในประเทศไทยแมลงทับ ได้รับการจัดแบ่งเป็นสองชนิดที่สามารถพบได้ โดยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ สี หนวด ขา คือ แมลงทับขาแดง พบมากในบริเวณป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนแมลงทับขาเขียว พบอยู่ทั่วประเทศและพบมากในภาคกลาง 6. ทราย มีเนื้อหาว่า เป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไป เป็นสสารแบบเม็ด เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากหินที่ถูกย่อยเป็นเม็ดละเอียด และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ คือ ประเพณีการขนทรายเข้าวัดและการก่อพระเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์ ถือเป็นการทำบุญโดยที่วัดจะนำทรายเหล่านี้มาใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมถาวรวัตถุต่าง ๆ 7. คณิตศาสตร์ในธรรมชาติ มีเนื้อหาว่า ทุกสิ่งรอบตัวเราและทุกเรื่องราวล้วนเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ในธรรมชาติเช่นพืช ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของ ปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติที่อยู่ในท้องฟ้า ในทะเล แม่น้ำ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองเพื่อใช้เป็นแนวทางในการอธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ 8. โรคมือเท้าปาก มีเนื้อหาอธิบายว่า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพบบ่อยในเด็กเล็กซึ่งการติดต่อค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่งเช่นน้ำลายหรืออุจจาระของผู้ป่วยหรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อ การระบาดมักเกิดเฉพาะฤดูฝนหรือช่วงที่มีอากาศเย็นและชื้นมากเกินไป โดยศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เป็นองค์กรสำคัญที่มักจะได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าว ดังนั้น เราควรศึกษาให้ความสำคัญและเพื่อส่งต่อความรู้จักกับโรคเหล่านี้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาของโรคและดูแลไม่ให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นได้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ผ่านท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อนำไปส่งต่อให้กับเด็กไทยในทุกพื้นที่ ตามพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ที่แตกต่างกันตามหมวดสาขาวิชาต่าง ๆ โดยนักวิชาการ ผู้รู้ ช่วยกันเรียบเรียงในภาษาที่ง่าย สำหรับเผยแพร่ไปสู่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ในทุกจังหวัด จึงขอความกรุณาผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เชิญพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ในครั้งนี้ไปมอบให้กับลูกหลานและคนในสังคม พร้อมทั้งจัดโปรแกรมในการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ของหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ตั้งแต่เล่มที่ 1-44 และเล่มพิเศษ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำสารานุกรมไทย สร้างองค์ความรู้ไปสู่ลูกหลานเยาวชนและพี่น้องที่อยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ซึ่ง “เป้าหมายสำคัญ” สำหรับเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน คือ การบูรณาการกับ 7 ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญกว่านั้น คือ การทำให้เกิดการวัดผลว่าหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นั้น ลูกหลานที่อยู่ในวัยเรียนได้นำไปใช้ประโยชน์จริง เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการจัดการแข่งขันทดสอบความรู้ที่อยู่ในสารานุกรมไทย ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า เราได้ช่วยกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทำให้ลูกหลานเยาวชนคนไทยได้มีโอกาสในการที่จะมีองค์ความรู้จากการอ่านหนังสือที่ประมวลรวบรวมความรู้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศชาติ จึงขอฝากความหวังไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดช่วยกันส่งเสริมด้านการศึกษาของเด็กไทย”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญของการดูแลเด็กและเยาวชนในวัยเรียนซึ่งกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง คือ “สุขภาพ” ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ โดยจากการได้รับทราบข้อมูลผลการตรวจสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์พบว่า เด็กมีภาวะทางจิตเวชและโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลและครอบครัวมีฐานะยากไร้ ประกอบกับอาศัยโรงเรียนประจำที่อยู่ไกลจากครอบครัวและผู้ปกครอง ดังนั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดไม่นิ่งนอนใจ ด้วยการช่วยกันสำรวจตรวจสอบสุขภาพเด็กทุกโรงเรียนในพื้นที่ โดยปรึกษาหารือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในการเชิญจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ไปช่วยในการคัดกรอง ดูแล เสริมสร้างพลังเชิงบวกให้กับเด็กในโรงเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่ของเรา เพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งมีกิจกรรมให้เด็กได้ห่างไกลจากปัญหาโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตใจ โดยสามารถใช้กิจกรรมด้านงานศิลปะ งานแสดงดนตรี หรือกีฬา หรือการฝึกฝนทางด้านวิชาชีพต่าง ๆ และกิจกรรมพัฒนาการเรียนอื่น ๆ ตามที่เด็กสนใจ เพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้แสดงทักษะ ความสามารถ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ได้ผ่อนคลายจากความเครียดสะสมได้
“นอกจากนี้ เรื่องการรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนในสถานศึกษา ต้องถูกสุขอนามัยและมีสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ ซึ่งสถานศึกษาในทุกจังหวัดได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านอาหารกลางวันจากทางราชการ จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง “คณะกรรมกาารประเมินและตรวจสอบอาหารกลางวันของโรงเรียนภาคประชาชน” ประกอบด้วย ข้าราชการ ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ที่มีการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็ก โดยมีแนวทางที่จังหวัดควรนำไปใช้ ประการที่ 1 การใช้แอปพลิเคชัน “FoodiEat” ซึ่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมอนามัย พัฒนาขึ้น โดยมีแอปพลิเคชันดังกล่าว มีข้อมูลเมนูอาหารตัวอย่าง ซึ่งได้คำนวณสารอาหารความต้องการของเด็กในแต่ละวัยไว้แล้ว ประการที่ 2 สามารถกรอกเมนูประจำถิ่นของพื้นที่ ในระบบแอปพลิเคชันดังกล่าว เพื่อตรวจสอบปริมาณสารอาหาร ประการที่ 3 ให้ทำข้อมูลเมนูอาหารกลางวันล่วงหน้าในแต่ละสัปดาห์ในแต่ละเดือน เพื่อเป็นการวางแผนในการบริหารจัดการเมนูอาหารกลางวันให้กับเด็ก ประการที่ 4 ให้ทุกจังหวัดใช้กลไกคณะกรรมการที่ได้ตั้งขึ้น สุ่มตรวจอาหารกลางวัน อาทิ ด้านความสะอาด ด้านคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้ รสชาติ เพื่อเด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร อาทิ การคัดแยกขยะเศษอาหารที่กินเหลือ เพื่อสร้างเสริมสุขนิสัยการรักษ์สิ่งแวดล้อม และต้องอย่าลืมที่จะช่วยกันสื่อสารสังคม เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวกับการทำเรื่องดี ๆ และร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับพวกเรา อันจะทำให้เกิดสังคมแห่งจิตอาสาเราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ที่จะหนุนนำให้เกิดสิ่งสำคัญที่เป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พวกเราทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม นั่นคือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน”.