ป.ป.ช. ภาค 6 แถลงชี้สอบ127เรื่องทุจริตที่เมืองชาละวันส่งสำนวนถึงผู้ว่าฯเชือดนายกอบต.1แห่งผิดม.157 วันที่ 23 ส.ค. 2561 ดร.ชาตรี ทองสาริ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ภาค 6 และ นายณัฐวุฒิ ทรงประดิษฐ์ ผอ.สนง.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.)ประจำจังหวัดพิจิตร ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวผลงานการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ว่า สถิติเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ช่วง 1 ตุลาคม 2561 – 20 สิงหาคม 2561 มีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 127 เรื่อง ใน 11 หน่วยงาน คือ
1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในจังหวัดพิจิตร จำนวน 98 เรื่อง
2.กระทรวงศึกษาธิการจำนวน 3 เรื่อง
3.กระทรวงพัฒนาความสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จำนวน 1 เรื่อง
4.กระทรวงมหาดไทยจำนวน 10 เรื่อง
5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 4 เรื่อง
6.กระทรวงอุตสาหกรรมจำนวน 1 เรื่อง
7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 4 เรื่อง
8.กระทรวงคมนาคมจำนวน 1 เรื่อง
9.กระทรวงพลังงานจำนวน 1 เรื่อง
10.กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 3 เรื่อง
11.สำนักงานอัยการจำนวน 1 เรื่อง
แต่ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละเรื่องนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่ง ดร.ชาตรี ทองสาริ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ภาค 6 กล่าวว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิจิตรถือได้ว่ามีสถิติสูงติดอันดับต้นๆของ ป.ป.ช. ภาค 6 ในส่วนของเรื่องการทุจริตที่อยู่ในกระแส นั่นก็คือ เรื่องโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดเทศบาลตะพานหิน ขณะนี้รวบรวมหลักฐานรอบด้านแล้วและได้ส่งสำนวนไปยังส่วนกลาง เพื่อให้ ป.ป.ช.จากส่วนกลางพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีมุมมองในประเด็นต่างๆเพิ่มเติมเห็นด้วยกับสำนวนที่ส่งไปหรือสั่งให้สอบเพิ่ม หรือไม่เห็นด้วย ซึ่งจะต้องรอ แต่มั่นใจว่าคงใช้เวลาไม่นานคงสรุปผล ซึ่งได้ส่งหลักฐานเป็นสำนวนกล่องใหญ่ไปเมื่อวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561 แล้ว ซึ่งถ้ามีผลเช่นไรก็จะแถลงผ่านสื่อมวลชนเพื่อนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ที่มีคำพิพากษาลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ในคดีอาญา ว่า นายกอบต.ดงตะขบ รับสารภาพว่าทุจริตผิด ม.157 ซึ่งมีโทษจำคุก แต่ศาลเมตตาให้รอลงอาญาเพื่อให้โอกาสได้กลับตัวกลับใจ ซึ่งในทางคดีอาญาไม่ติดคุก แต่ในทางวินัยคงต้องถูกผู้บังคับบัญชาสั่งปลดออกจากตำแหน่งอย่างแน่นอนคงต้องรอดูการใช้อำนาจของผู้บริหารระดับจังหวัดพิจิตรที่จะลงโทษปลดออก แต่ถึงทุกวันนี้ผ่านมาเกือบ 1 เดือน ชาวบ้านก็ใจร้อนว่าเมื่อไหร่จะเห็นการลงดาบลงโทษผู้ทุจริตนั้นเสียที ก็ต้องชี้แจงว่า ในแต่ละเรื่องมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนและมีเงื่อนเวลาในการใช้คำสั่งลงโทษ แต่บางครั้งกระบวนการทำงานก็มีขั้นตอน ซึ่งต้องยืดหยุ่นกันบ้างตามสมควร แต่ถ้าไม่มีการกระทำหรือลงโทษใดๆเลย ทำเป็นเพิกเฉยหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผูกระทำความผิดผู้บังคับบัญชาก็จะกลายเป็นคู่กรณีกับสำนักงานป.ป.ช.เสียเอง ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเช่นนี้เคยมีบทเรียนและเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งผู้บริหารระดับอำเภอ หรือ ระดับจังหวัดต่างทราบดีคงไม่มีใครเอาตัวไปแลกเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดอย่างแน่นอน
ดร.ชาตรี ทองสาริ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ภาค 6 และ นายณัฐวุฒิ ทรงประดิษฐ์ ผอ.สนง.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.)ประจำจังหวัดพิจิตร แถลงข่าวในประเด็นเพิ่มเติม ถึงเรื่องไต่สวนฯที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติจำนวน 1 เรื่อง ชี้มูลความผิดวินัย-อาญา นายกอบต.สามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ว่า กระทำการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมารถไถดินพร้อมปรับเกลี่ยเพื่อปรับภูมิทัศน์บริเวณด้านหลัง อบต.สามง่าม ในกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจิตร ได้ชี้มูลความผิดในส่วนของ นายก อบต.สามง่าม ว่ามีความผิดตามมาตรา 157 , มาตรา 151 ซึ่งจะส่งผลทางวินัยจึงได้ส่งเรื่องให้ ผวจ.พิจิตร ปลดออกจากตำแหน่ง และพิจารณาลงโทษเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ราย ชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง อีกด้วย
สิทธิพจน์ พิจิตร