ข่าวรัฐสภา

กมธ.เกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เดินทางไปประชุมทวิภาคีและไปเยือนต่างประเทศ

กมธ.เกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เดินทางไปประชุมทวิภาคีและไปเยือนต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2567

.
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการ เข้าร่วมประชุมทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับคณะผู้บริหารและอาจารย์วิทยาลัยกสิกรรมและป่าไม้ภาคเหนือ หลวงพระบาง เกี่ยวกับการบริการจัดการภาคการเกษตร การอารักขาพืช การควบคุมการแพร่ระบาดของตั๊กแตนไผ่ ตลอดจนแนวทางป้องกันและการกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรของ สปป.ลาว และความร่วมมือกลุ่มแม่น้ำโขง MRC เกี่ยวกับการอารักขาพืช โดยวิทยาลัยได้มีความร่วมมือกับต่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตร แต่ยังขาดทุนในการต่อยอดการพัฒนา จึงเป็นการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มทักษะในการทำการเกษตร โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ด้านการเกษตร ส่วนกรณีการแก้ไขปัญหาตั๊กแตนไผ่ ที่ผ่านมาไทย ลาว จีน ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา และจีนได้ให้ความช่วยเหลือโดยสนับสนุนอุปกรณ์และสารเคมี แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่บนเขา สำหรับความร่วมมือกลุ่มแม่น้ำโขง MRC สปป.ลาว ได้ให้ความร่วมมือกับทุกกลุ่ม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำโขง
.
โดยคณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกต ประกอบด้วย 1.การพัฒนาการศึกษาโดยการสร้างจุดเด่นเพื่อดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการวิจัยพัฒนา ส่งเสริมหาแหล่งทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะวิชาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพ 2.การใช้สารเคมีในการแก้ไขปัญหาควรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และการฟุ้งกระจายของสารเคมีในขณะพ่นสาร 3.ด้านความร่วมมือกลุ่มประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง ควรต้องร่วมมือในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับน้ำในภูมิภาคด้านการเกษตร ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร และเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

.
จากนั้น คณะฯ ได้ประชุมทวิภาคีและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับคณะผู้บริหาร และอาจารย์คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรป่าไม้ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยความรู้ด้านเกษตร การขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การควบคุมตั๊กแตนไผ่ รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง MRC โดยมหาวิทยาลัยได้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเกษตรที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม และได้มีการร่วมมือกับต่างประเทศในการศึกษาค้นคว้า วิจัยพัฒนา ด้านการเกษตร การแปรรูป การทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจการเกษตร โดยมีการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ การประมง การปลูกพืชผัก ทั้งนี้ในการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยเป็นการหาแหล่งทุนจากองค์กรต่างประเทศ
.
คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเพิ่มทักษะการเรียนการสอนการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การผลักดันการร่วมมือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง การเสนอแนวทางโดยสถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และให้มีการผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน