ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น ข่าวแพร่

จังหวัดแพร่เปิดแถลงใช้ฝายแม่ยม อ.สอง หน่วงมวลน้ำลดลง 30-40 เปอร์เซนต์ ขณะไหลผ่านตัวเมืองแพร่ เพื่อไม่ให้ทะลักเข้าท่วมในเขตเทศบาลฯ

22 สิงหาคม 2567 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดแพร่ เปิดแถลงข่าวสถานการณ์น้ำ  โดยมี นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน  มีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ นายอัสนี จารุชาต ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ นายพงศ์พิษณุ ชอบประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม นางสาวรำพู จันต๊ะปะตุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ นางสาวอัญชลี ปัญญากวาว เกษตรจังหวัดแพร่ นายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นายอำเภอเมืองแพร่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ และพ.ต.อ.ธำรงศักดิ์ บุญทักษ์ รอง ผอ.รมน.จังหวัด พ.ร.(ท.) ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่


นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในภาพรวมการแถลงข่าวในวันนี้เป็นการการพูดถึงการบูรณาการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2567 ได้เกิดร่องความกดอากาศต่ำทำให้เกิดฝนตกลงในพื้นที่ อ.ปง และ อ.เชียงม่วน จ.พะเยาในปริมาณมากซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำยม ทำให้ปริมาณน้ำในแม่ยมมีระดับที่สูงขึ้นจนเข้าท่วมในพื้นการเกษตรและบ้านเรือนของชาวบ้าน  มวลน้ำก้อนนี้มีเส้นทางไหลมาจาก อ.เชียงม่วน อ.ปง จ.พะเยา เข้าสู่ อ.สอง จ.แพร่ แล้วลัดเลาะเข้ามากลางเมืองแพร่ แล้วผ่านสถานีวัดน้ำ Y14 น้ำโค้ง ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ และไหลไปเด่นชัย และ อ.วังชิ้น แล้วไหลไปที่ อ.ศรีสัชนาลัย โดยเฉพาะ อ.วังชิ้น จ.แพร่ และ อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขณะนี้ปรากฎว่าโล่งสามารถระบายน้ำได้รวดเร็ว ฝนตกที่ จ.เชียงราย จ.พะเยาหยุดแล้ว น้ำมาจริงแต่น้ำเติมไม่มีน้ำลดไปเร็ว น้ำจากลำน้ำสาขาแม่น้ำยมก็ไม่มีสมทบเข้ามาเพิ่ม

นายพงศ์พิษณุ ชอบประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม เปิดเผยว่า ในส่วนของลุ่มน้ำยมตอนบนในส่วนของจังหวัดแพร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในการบูรณาการร่วมกันโดยผ่านศูนย์น้ำ มวลน้ำก้อนนี้มาจาก จ.พะเยาเป็นหลัก สถานีแรกที่รับน้ำคือ สถานี Y.20 แม่น้ำยม บ้านห้วยสัก ต.เตาปูน อ.สอง จ.แพร่เมื่อวานนี้ สถานีวัดน้ำ y.20 ห้วยสัก ยอดมวลน้ำสูงสุด 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อคืนนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้หารือร่วมกัน เพราะมวลน้ำนี้จะมาถึงฝายแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ ประมาณ 4 ชั่วโมง พอมวลน้ำเดินทางมาถึงฝายแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ เราก็ควบคุมน้ำด้วยการหน่วงมวลน้ำให้ไหลช้าลง เพื่อให้มวลน้ำไหลลงมาท้ายน้ำลดลง 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกส่วนหนึ่งเราก็ผลักยอดน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็ช่วยตัดยอดมวลน้ำเพิ่มออกไปอีก


สถานการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมามีการคาดการมวลน้ำก้อนนี้ใช้เวลาในการเดินทาง 17 ชั่วโมง เมื่อวานนี้เวลา 18.00 น. ผ่านฝายแม่ยมมีปริมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่าจะมาถึง สถานีY.1C แม่น้ํายม บ้านน้ำโค้ง ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ในเวลา 12.00 น.ของวันนี้ ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 900-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็รวมเวลาเดินทาง 17 ชั่วโมงพอดี ความสูง 8.60 เมตร เรื่องนี้นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ก็ได้มาวางแผนร่วมกันในการควบคุมน้ำให้อยู่ในระดับตั้งแต่ 9 ถึง 10 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง
นายพงศ์พิษณุ ชอบประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ดีกรมชลประทานก็ได้คำนวณโดยใช้แบบจำลองว่ามวลน้ำก้อนนี้ จะขึ้นสูงสุดที่ สถานีY.1C บ้านน้ำโค้ง ต.ป่าแมต อ.เมือง จ.แพร่ เช้านี้เราคำนวณจะขึ้นสูงสุดที่ 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในเวลา 06.00-08.00 น.ของวันที่ 23 สิงหาคม 2567 แต่เราจะควบคุมน้ำที่ผ่านฝายมายังสถานีวัดน้ำ Y.1c ในอัตรา 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เราก็สามารถตัดยอดมวลน้ำนี้ได้อีก30-40 เปอร์เซ็นต์ ยอดที่สูงที่สุดของวันพรุ่งนี้ คือ 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะสูงไม่เกิน 9.70 เมตร นายกเทศมนตรีบอกว่าควบคุมได้ที่ความสูงของมวลน้ำที่ประมาณ 10 เมตร เราก็จะพยายามไม่ให้เกิน 9.50 เมตร ก็ได้รายงานให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายก อบจ.แพร่ และนายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ได้รับทราบแล้ว

ส่วนทางด้านความเสียหายทางด้านพืชผลทางการเกษตร นางสาวอัญชลี ปัญญากวาว เกษตรจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จากการได้รับรายงานพื้นทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ ข้าวโพด จำนวน 2,000 ไร่ อำเภอเมืองแพร่ อำเภอหนองม่วงไข่ ข้าว2,000 กว่าไร่ ซึ่งเกษตรกรผู้เสียหายจะได้รับเงินชดเชย ตามเงื่อนไขที่กำหนด ข้าวโพดไร่ละ 1,980 บาท และข้าวไร่ละ 1,340 บาท ไร่  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการมีการปรับปรุงโครงการฝายแม่ยม อ.สอง จ.แพร่ ทำให้ตัวฝายแม่ยมสามารถรับน้ำได้เพิ่มขึ้น และสามารถหน่วงประมาณน้ำที่ไหล จาก จ.พะเยาไปสู่ จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย และสามารถช่วยบรรเทาแก้ไขในปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากได้ขณะความเสียหายอื่นๆนอกจากนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ

ญาณัจฉรา โชติถนอมกิจ  รายงาน