กรมชลประทานนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริพร้อมเดินหน้าเตรียมสร้างภายใน 3 ปี
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 23 พ.ค.2567 ที่เทศบาลตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว นายทศพัฒน์ เลาจาง นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง ให้การต้อนรับ นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม กรมชลประทาน และนายนคร ศรีธิวงค์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม กรมชลประธาน พร้อมด้วย ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทานเนื่องจากขณะนี้กรมชลประทานได้สรุปผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นพร้อมเดินหน้าเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงการนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2530 ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานโครงการอ่างเก็บน้า(น้ำ)ห้วยแม่มาศ ต่อมาทางกรมชลประทานได้ชะลอโครงการไว้เนื่องจากจุดที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง อ.เชียงดาว จากนั้นในปี พ.ศ. 2560 สำนักงานชลประทานที่ 1 เข้าสำรวจสภาพพื้นที่จุดที่ตั้งโครงการอีกครั้งหนึ่งพบว่าราษฎรบ้านแม่ป๋าม ยังคงมีความต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศอยู่ เนื่องจากในพื้นที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง ต้องการแหล่งน้ำเก็บกักสำหรับอุปโภค บริโภคของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านปางเฟือง บ้านปางโม่ บ้านแม่ป๋าม บ้านแม่มะกู้ บ้านห้วยน้ำริน และบ้านไตรสภาวคาม ในเขตตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่นคงด้านอาหารมีผลผลิตและรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 1 พิจารณาเลื่อนจุดที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ มาทางด้านท้ายน้ำเพื่อให้อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ พร้อมศึกษาวางโครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่าจุดที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว บริเวณป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (โซน C) ประมาณ 203 ไร่ เข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เรื่อง การทบทวนการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการของหน่วยงานรัฐที่ต้องเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (13 กันยายน 2537)
จากนั้นกรมชลประทาน ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอสเค แมเนจเมนท์ แอนด์ แพลนนิง จำกัด , บริษัท ธรรมชาติ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ไทยคอนซัลแตนท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อดำเนินงานโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 66 สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 67 รวมระยะเวลา 360 วัน
ในครั้งนี้ กรมชลประทานสรุปผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.57 ล้านลูกบาศก์เมตร มีค่าลงทุนโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 183 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ 3,547 ไร่ ซึ่งมีมูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นกว่า 152,000 บาทต่อครัวเรือน โดยผลประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 4,128 ไร่ ประกอบด้วย หมู่ที่ 2 บ้านปางเฟือง หมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ หมู่ที่ 3 บ้านแม่ป๋าม หมู่ที่ 12 บ้านแม่มะกู้ หมู่ที่ 16 บ้านห้วยน้ำริน และหมู่ที่ 5 บ้านไตรสภาวคาม รวมทั้งสิ้น 1,646 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านการเกษตรจากปัจจุบันร้อยละ 99.36 เป็น ร้อยละ 119.17 ซึ่งมีมูลค่าผลประโยชน์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 8,565 บาทต่อครัวเรือนต่อไร่ และการสร้างอ่างเก็บน้ำ จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชุมชนในท้องถิ่นและจังหวัด เป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนและชุมชนโดยรอบได้ ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการดับไฟป่าอีกด้วย
จากนั้นนายทศพัฒน์ เลาจาง นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง นำคณะทุกท่านลงพื้นที่ฝายแม่ป๋าม พร้อมนายสมทบ จำรัส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านแม่ป๋าม พร้อมนายชาติ ผาสพ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 นำลงพื้นที่ดูฝายแม่ป๋ามตัวบน และฝายแม่ป๋ามตัวล่าง และอีกพื้นที่นายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง พร้อมนายอุทัย บางทน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านปางโม่ พาดูฝายแม่มาศ เป็นจุดที่ใกล้พื้นที่หัวงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังกล่าว โดยนายกเทศมนตรีตำบลปิงโค้ง และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เห็นว่าหากสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศแล้ว จะเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งในด้านน้ำไปอุปโภค – บริโภค แล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำเพื่อนำไปใช้ดับไฟป่า ซึ่งที่ผ่านมาตำบลปิงโค้งมักติดอันดับต้นๆ ที่ฤดูแล้งเกิดจุดความร้อน(Hotspot) ที่มากอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ หากมีอ่างเก็บน้ำห้วยแม่มาศ จะสามารถให้เฮลิคอปเตอร์มาตักน้ำไปดับไฟป่าได้ และที่สำคัญยังจะช่วยให้ชาวบ้านและเกษตรกรนำน้ำไปทำการเกษตรสร้างอาชีพที่มั่นคงต่อไป.