22 พฤษภาคม 2567 ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต สมาชิกวุฒิสภา พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมและหารือกับคุณซาบีน เบค เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองยาเสพติด กรมตำรวจอาชญากรรมเบอร์ลิน (Ms.Sabine Beck, Police Officer, Drug Squad of the Criminal Police Department of Berlin) คุณแอสทริด ไลท์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin (Ms.Astrid Leicht, Director of Fixpunkt Berlin) และคณะ
ในการหารือฯ ดังกล่าว คุณซาบีน เบค เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองยาเสพติด กรมตำรวจอาชญากรรมเบอร์ลิน และคณะ ได้ให้การต้อนรับ พร้อมทั้งให้ข้อมูลสถานการณ์ภาพรวมของเบอร์ลินว่า เบอร์ลินมีประชากรประมาณ 3.8 ล้านคน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนประมาณ 18,500 คน โดยแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบออกเป็น 5 เขต ซึ่งแต่ละเขตจะมีกลุ่มงานด้านยาเสพติดโดยเฉพาะ สำหรับจำนวนผู้ติดยาเสพติดในเบอร์ลินนั้น พบว่ามีผู้ติดยาเสพติดแบบรุนแรงประมาณ 15,000 คน โดยในจำนวนนี้ มี 6,000 คน ที่เข้าสู่การดูแลของศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin
ทั้งนี้ ในอดีตประเทศเยอรมนีมีแนวคิดในการลดจำนวนยาเสพติด แต่พบว่าต่อให้ยึดสิ่งเสพติดเท่าไร ก้อไม่สามารถลดจำนวนยาเสพติดในตลาดได้ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการยึดหลักการ ”ผู้เสพคือผู้ป่วย“ โดยพยายามทำให้สถานที่ต่าง ๆ อาทิ สถานีรถไฟ โรงเรียน มีความปลอดภัย กฎหมายของประเทศเยอรมนีจึงอนุญาตให้จัดให้มีสถานที่/ห้องในการเสพยาเสพติดได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมก่อน ทั้งนี้ สถานที่/ห้องดังกล่าว ต้องมีความสะอาด มีความพร้อมทางการแพทย์ และมีแนวทางในการบำบัด ลดการเสพ หรือให้คำแนะนำ เพื่อนำไปสู่การเลิกยาเสพติดด้วย สำหรับการครอบครอง และค้ายาเสพติดนั้น ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายเยอรมนี
สำหรับศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin เปิดมาตั้งแต่ปี 1989 (พ.ศ.2532) ปัจจุบันได้รับงบประมาณ 3.5 ล้านยูโร ต่อปี โดยศูนย์ฯ ดำเนินงานในรูปแบบ “การใช้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน” (Community-bassed outreach) โดยจะจัดตั้งในพื้นที่ที่ยาเสพติดระบาด รวมถึงมีการจัดบริการในรูปแบบรถเคลื่อนที่ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงานเพื่อลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มากกว่าการลงโทษทางอาชญากรรม ดังนั้น ในทางปฏิบัติศูนย์ฯ จึงต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนด้วยความโปร่งใส ภายใต้การทำงานแบบสหวิชาชีพ อาทิ หน่วยงานราชการ นักสังคมสงเคราะห์ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมกับแต่ละกรณี เช่น การจำหน่าย / จัดสรร เข็มฉีดยาที่สะอาด การจัดหางานให้ผู้เสพยา การส่งผู้เสพยาไปตรวจหาสารเสพติด
ภายหลังจากการหารือฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะ ได้เยี่ยมชมการให้บริการ ณ ศูนย์ให้คำปรึกษาและบำบัดรักษายาเสพติด Fixpunkt Berlin หน่วยเคลื่อนที่ในการให้คำปรึกษา ห้องใช้สารเสพติดเครื่อนที่ และห้องให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินเคลื่อนที่ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้และศึกษาดูงานดังกล่าว จะเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานนำไปพัฒนางานด้านการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทยต่อไป
นูอารีซ๊ะ ยะยือริ รายงาน