22 เมษายน 2567 สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เริ่มรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 ของ ต.ห้วยจันทร์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค อย่างหนัก จนต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้ วันละ 100-200 บาท เพื่อประทังชีวิต ให้ผ่านพ้นวิกฤติในช่วงฤดูแล้งนี้ไปให้ได้ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร ก็เริ่มประสบปัญหาหนักเช่นกัน
นายจักรกฤษ โพธิสาร อายุ 31 ปี เจ้าของสวนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ปีนี้ตนปลูกทุเรียนอยู่ 15 ไร่ แต่ตอนนี้ประสบปัญหาอากาศร้อน ต้นทุนเรียนขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก น้ำที่รดต้นทุเรียนไม่เพียงพอ ต้องลงทุนใช้รถบรรทุกขนถังน้ำลงมาสูบน้ำในคลองส่งน้ำขึ้นไปรดต้นทุเรียน ซึ่งวันหนึ่งตนต้องใช้น้ำในการรดต้นทุเรียนถึงวันละ 5 หมื่นลิตร ตนต้องสูบน้ำขนขึ้นไปรดต้นทุเรียนถึงวันละ 5-6 รอบต่อวัน ซึ่งถ้าไม่ทำแบบนี้ต้นทุเรียนที่ตนปลูกไว้ 15 ไร่ คงต้องตายหมดสวนแน่นอน
ด้าน นายสมบูรณ์ ประจิม นายก อบต.ห้วยจันทร์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ตำบลห้วยจันทร์ ที่หนักๆจะมีอยู่ 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ 4 และหมู่ 5 ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่แล้งมากกว่าทุกปี ชาวบ้านส่วนใหญ่จะขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน ขาดน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตร เนื่องจากไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เบื้องต้นทาง อบต.ห้วยจันทร์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเร่งวางแผนแก้ปัญหาภัยทั้งแบบระยะสั้น และระยะยาว โดยแบบระยะสั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำรถน้ำมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านใน 2 หมู่บ้าน ที่ประสบปัญหา วันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังต้องนำน้ำไปส่งให้ตามวัดในพื้นที่ขาดแคลนอีก สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และส่งน้ำบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวน้ำตกห้วยจันทร์ ได้ใช้ในทุกวันศุกร์อีก 2 รอบ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้กับชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ทาง อบต.ห้วยจันทร์ ร่วมกับทาง ชลประทาน และภาคส่วนต่าง กำลังช่วยกันผลักดันโครงสร้างเขื่อนห้วยจันทร์ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน 2-3 ปีข้างหน้านี้ ก็น่าจะสร้างแล้วเสร็จ แล้วพี่น้องชาวบ้านในพื้นตำบลห้วยจันทร์ และตำบลใกล้เคียง ก็จะได้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ และจะได้มีน้ำใช้ไปตลอดทั้งปี ไม่ขาดแคลนเหมือนทุกวันนี้.
บุญทัน ธุศรีวรรณ รายงาน