22 เมษายน 2567 นายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดงานในพิธีบุญสรงกู่ ประจำปี 2567 ณ โบราณสถานปรางค์กู่ วัดศรีรัตนาราม บ้านปรางค์กู่ ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นางนราภรณ์ ไวนิยมพงศ์ สมาชิกสภา อบจ.ร้อยเอ็ด, นายนพพงษ์ วงษ์เสนา ปลัดอาวุโส อ.ธวัชบุรี, นายอนุวัฒน์ สาคร รองนายกเทศมนตรีตำบลมะอึ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวอำเภอธวัชบุรี ตลอดจนนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน ภายในพิธี ประธานได้กล่าวเปิดงาน เจ้าหน้าที่จุดพลุ ตะไล เปิดทายจุดบั้งไฟเสี่ยง จากนั้นประธานจุดธูปเทียนที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงพร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้ ต่อด้วยการสรงน้ำพระพุทธรูปภายในปราสาท และพิธีรำบูชาองค์ปรางค์กู่ จากนางรำอัปสรา และนางรำชาวอำเภอธวัชบุรี กว่า 300 คน ร่วมรำถวาย
นายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ประเพณีบุญสรงกู่ เป็นประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เกือบ 300 ปี และในปีนี้อำเภอธวัชบุรี เทศบาลตำบลมะอึ ร่วมกับหน่วยงานราชการ สถานศึกษา พ่อค้า และพี่น้องประชาชนชาวตำบลมะอึ ได้ร่วมกันจัดประเพณีบุญสรงกู่ ขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น สร้างความรัก ความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจของประชาชนในชุมชน และเพื่อส่งเสริมการศึกษา การเรียนรู้ย้อนรอยแหล่งศิลปวัฒนธรรมขอมโบราณ รูปแบบวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสมัยโบราณ อันจะสร้างความภูมิใจ และจิตสำนึกในการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีให้ยั่งยืนสืบไป
สำหรับปรางค์กู่ หรือปราสาทหนองกู่ ตั้งอยู่ ภายในวัดศรีรัตนาราม บ้านปรางค์กู่ ตำบลมะอี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร สร้างขึ้นจากหินศิลาแลง ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงศตวรรษที่ 17-18 เป็นกลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกับอาคารที่เชื่อกันว่าเป็นอโรคยาศาล ตามที่ปรากฏ ในจารึกปราสาทขอม ถือเป็นสถานที่ใช้สำหรับการบูชาและการประกอบพิธีกรรมเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ สำหรับประชาชนที่ผ่านไปมาในสมัยนั้น
ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ.2476 ชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูป มาประดิษฐานไว้ภายในปรางค์ประธาน เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไหว้ สักการะบูชา และได้ยึดถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เป็นวันประกอบพิธีสรงกู่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้ประชาชนที่ทราบข่าวเดินทางไปกราบไหว้ บูชา และสรงน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่ เป็นการแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ ความเคารพศรัทธา ความกตัญญู ความผูกพันต่อผู้มีพระคุณ ตระหนักถึงคุณค่าของโบราณสถาน ในชุมชน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองชาวอำเภอธวัชบุรี และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ของจังหวัดร้อยเอ็ด
สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/ข่าว/ 086-643-6277