สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด
สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/ข่าว
วันนี้22ก.พ.2567 เวลา 10 นาฬิกา 32 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด บ้านนกเหาะ ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ทรงเปิดงานกิจกรรมเดินตามรอยพ่อและมรดกพ่อ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่อง ศาสตร์พระราชา ที่สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด น้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกในรูปแบบ “เดินตามรอยพ่อและ มรดกพ่อ” และทําการเกษตรตาม “พ่อสอน พ่อทํา พ่อให้” ช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติและประสบผลสำเร็จมาถึงทุกวันนี้
โอกาสนี้ ได้พระราชทานรางวัลแก่สมาชิกสหกรณ์ดีเด่น และผู้ชนะการประกวดค้นหาสุดยอดความหอมข้าวหอมมะลิของจังหวัดร้อยเอ็ด ปีการผลิต 2566/67 มี 2 ประเภท คือ ประเภทสหกรณ์ ได้แก่ สมาชิกสังกัดสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด และประเภทกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ และศูนย์ข้าวชุมชน ได้แก่ เกษตรกรสังกัด กลุ่มเกษตรกรทำสวนเมืองทอง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
สหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด จดทะเบียน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2520 มีเขตการดำเนินงานพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย รวม 13 ตำบล 175 หมู่บ้าน ในอดีต ช่วงปี 2525 – 2527 สหกรณ์ฯ ประสบภาวะขาดทุน ต้องเข้าแผนฟื้นฟู น้อมนำศาสตร์พระราชา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ เป็นแนวทางในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน กำหนดแผนแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ ให้สมาชิกนำข้าวเปลือก ส่งชำระหนี้แทน จัดหาเมล็ดข้าวพันธุ์ดี ปุ๋ย จำหน่ายให้สมาชิกในรูปแบบเงินกู้ไม่คิดดอกเบี้ย ส่งผลให้สหกรณ์ฯ กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง ผลประกอบการ ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 สหกรณ์มีทุนดำเนินงาน 3,460 ล้านบาท มีทุนเรือนหุ้น 224 ล้านบาท มีทุนสำรอง 138 ล้านบาท ธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือก 1,038 ล้านบาท ธุรกิจแปรรูปข้าวสารและผลพลอยได้ 235 ล้านบาท และธุรกิจอื่นๆ อีกกว่า 80 ล้านบาท
ปัจจุบัน สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ดำเนินงานตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก มีธุรกิจหลักคือ เรื่องข้าว ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจโรงสีข้าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจข้าวหอมมะลิ ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยกระตุ้นสารหอมในข้าว สร้างตราสินค้า รวมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างเครือข่ายสหกรณ์ ทั้งในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และความร่วมมือด้านอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 8,910 ครอบครัว 156 กลุ่ม สมาชิกทั้งหมดประกอบอาชีพทำนา อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ มากกว่า 158,000 ไร่ เมื่อได้รับการส่งเสริมให้น้อมนำศาสตร์พระราชาไปปรับใช้ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีผลกำไรสุทธิ 33,294,155.91 บาท สมาชิกได้รับเงินปันผล เฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีการจัดตั้งทุนสาธารณะประโยชน์ช่วยเหลือสังคม เป็นมรดก ส่งต่อให้สมาชิกรุ่นต่อๆไป สร้างความศรัทธาและเป็นที่พึ่งของสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงเกษตรกรทั่วไปอย่างยั่งยืน
เวลา 13 นาฬิกา 11 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพนฮาด ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน ตามพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน ที่ยึดการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นมาปรับใช้ เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดี และสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม โดยแบ่งเป็น 5 ระยะ ได้แก่
– ระยะที่ 1 จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านปอภาร ตำบลปอภาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2556
– ระยะที่ 2 จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพดฮาด ตำบลดงครั่งน้อย อำเภอเกษตรวิสัย เมื่อปี 2557
– ระยะที่ 3 จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านผือฮี ตำบลดงแดง อำเภอจตุรพักตรพิมาน เมื่อปี 2558
– ระยะที่ 4 จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนานวล ตำบลนานวล อำเภอพนมไพร เมื่อปี 2559
– และระยะที่ 5 จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านมะหรี่ ตำบลภูเงิน อำเภอเสลภูมิ เมื่อปี 2560
สำหรับกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโพดฮาด ได้รับการส่งเสริมทางด้านเกษตรกรรม และส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรที่สามารถสร้างรายได้ในครัวเรือน อาทิ
– การปลูกผักปลอดสารพิษ
– การทำนาข้าวขาวดอกมะลิ 105 แบบอินทรีย์
– การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เช่น ขนมโดนัท ,เค้กกล้วยหอม และขนมดอกจอก ที่ผลิตจากแป้งข้าวหอมมะลิของกลุ่มเกษตรในพื้นที่
– การทำงานฝีมือ “ปักพัดยศ” ตามรูปแบบขอสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ชั้นต่างๆ ซึ่งมีเพียงกลุ่มเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ
– และการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ราษฎรสามารถนำมาวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ในแต่ละเดือน
จากนั้นทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตร “ฐานเรียนรู้การผลิตน้ำหมักชีวภาพ” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพสำหรับใช้เองในครัวเรือน ที่ผลิตจากเศษพืชผัก และเศษอาหารจากชุมชน รวมทั้งเป็นจุดถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ที่มาอบรม และศึกษาดูงาน โดยจะมีการให้บริการน้ำหมักชีวภาพ แก่สมาชิกที่ปลูกผักโดยรอบพื้นที่โครงการฯ
และทอดพระเนตร”ฐานเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ” ซึ่งมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และหลากหลาย โดยพืชผักส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัวตามฤดูกาล อาทิ คะน้า ,พริก ,ต้นหอม ที่ใช้กระบวนการดูแล และบำรุงรักษาแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ได้มาตรฐาน ทั้ง Organic Thailand และ GAP โดยมีตลาดรองรับในการจัดจำหน่าย ซึ่งเป็นการยกกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/088-573-0542/ ข่าว
ปชส-ร้อยเอ็ด/ภาพ