วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ และนายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา เลขานุการหัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาครัฐสภา ประจำปี ๒๕๖๒ (The 2019 Parliamentary Hearing at the United Nations) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ภายใต้หัวข้อหลัก “ความท้าทายต่อแนวคิดพหุภาคีนิยมที่กำลังปรากฏขึ้น : การตอบสนองของภาครัฐสภา” (Emerging challenges to multilateralism : Parliamentary response) เพื่อทบทวนระบบพหุภาคีนิยมซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ และเพื่ออภิปรายหาแนวทางที่การเมืองภายในประเทศและสถาบันต่าง ๆ จะช่วยสร้างเสริมความแข็งแกร่งของระบบพหุภาคีนิยมในทุกมิติ โดยรัฐสภาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการหารือร่วมกับสหประชาชาติเกี่ยวกับอนาคตของแนวคิดพหุภาคีนิยมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในระบบพหุภาคีให้เกิดขึ้นใหม่ โดยมี Ms. Maria Fernanda Espinosa Garcés ประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๓ และ Ms. Gabriela Cuevas Barron ประธานสหภาพรัฐสภา กล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมจากนั้น คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมการประชุมในภาคเช้า ซึ่งเป็นการอภิปรายในหัวข้อ (๑)“แนวคิดพหุภาคีนิยมในจุดทางแยก : การประเมินในภาพรวมและความท้าทายที่เกิดขึ้น” (Multilateralism at a crossroads: overall assessment and emerging challenges) และ หัวข้อ (๒) “แนวคิดพหุภาคีนิยมในมิติระดับชาติ : การปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อการเมืองที่ดีขึ้น” (The national dimension of multilateralism: institutional reforms for better politics)
ในการนี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “แนวคิดพหุภาคีนิยมใน
มิติระดับชาติ : การปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อการเมืองที่ดีขึ้น” (The national dimension of multilateralism: institutional reforms for better politics) สรุปใจความสำคัญว่า “การพัฒนาเศรษกิจมีความสำคัญต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ความตกลงการค้าระหว่างประเทศในระบบพหุภาคีนิยมปัจจุบันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนของประชาคมโลก ประเทศไทยสนับสนุนความตกลงการค้าระหว่างประเทศในระบบพหุภาคีนิยม แต่มีข้อควรพิจารณาบางประการ องค์การการค้าโลกซึ่งเป็นองค์กรดูแลความตกลงการค้าระหว่างประเทศในระบบพหุภาคี ซึ่งได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมากในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เป็นสถาบันที่มีลักษณะกำหนดและกำกับดูแลกฎเกณฑ์กติกาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมยิ่งขึ้นทางการค้า ไม่แบ่งแยกและคาดการณ์ได้ เพื่อที่จะสร้างให้มีความเท่าเทียมทางการค้าระหว่างประเทศ ด้วยหลักการนี้ ทำให้ประเทศสมาชิกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาต่างได้รับประโยชน์จากการได้ขจัดอุปสรรคทางการค้าออกไป และการลดระดับอัตราภาษีศุลกากร ในฐานะสมาชิกรัฐสภาแห่งประเทศไทย มีสองข้อประเด็นที่เราควรพิจารณาร่วมกัน ข้อพิจารณาประเด็นที่หนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้รัฐสภามีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการกำกับรัฐบาลในการนำหลักข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศไปปฏิบัติตามที่องค์การการค้าโลกวางไว้ในเรื่องการค้าเสรีและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง ข้อพิจารณาประเด็นที่สอง เป็นประเด็นว่าเราจะพัฒนาองค์กรอย่างไรให้เป็นสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ในประเด็นนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องยกระดับการพัฒนา ปรับปรุงองค์การการค้าโลกทั้งในเรื่องบทบาทหน้าที่และโครงสร้างองค์กร ต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ขององค์กร และต้องทำโดยเร็ว และในฐานะสมาชิกรัฐสภา รัฐสภาจะทำอย่างไรที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดการปฏิรูปองค์การการค้าโลกเพื่อที่จะเป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างดีกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา และจะมีกลไกและวิธีการอย่างไรในการประเมินการดำเนินการที่ผ่านมาว่าได้ผลดีอย่างไร และควรปรับปรุงอย่างไร และจะมีการปฏิรูปองค์กรอย่างไร เพื่อให้สามารถเผชิญ และรับมือได้อย่างดีกับการเปลี่ยนแปลงและการท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ การท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ การขัดแย้งทางการค้ารูปแบบใหม่ ๆ และการเกิดสงครามการค้าในมิติใหม่ ๆ จะทำอย่างไรให้องค์การการค้าโลกมีขีดความสามารถในการรับมือในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างดี เพื่อที่จะทำให้ความตกลงการค้าในระบบพหุภาคีดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมายดังเจตนารมณ์ที่จัดตั้ง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ต่อจากนั้น ในภาคบ่าย คณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ร่วมการประชุม ซึ่งเป็นการอภิปรายในหัวข้อ (๓) “ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในองค์การสหประชาชาติและนอกเหนือจากองค์การสหประชาชาติ” (Gender equality at the United Nations and beyond) และหัวข้อ (๔) “การลงทุนในแนวคิดพหุภาคีนิยม : ช่องว่างในการจัดหาเงินทุนขององค์การสหประชาชาติ” (Investing in multilateralism: the UN funding gap)ในการนี้ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การลงทุนในแนวคิดพหุภาคีนิยม : ช่องว่างในการจัดหาเงินทุนขององค์การสหประชาชาติ” (Investing in multilateralism: the UN funding gap) สรุปใจความสำคัญว่า “ในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ และในฐานะสมาชิกรัฐสภาในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ตนจึงขอเสนอแนะว่าจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการลดค่าใช้จ่ายบางประการเพื่อช่วยปิดช่องว่างเรื่องการจัดหาทุนของสหประชาชาติ อาทิ การปรับปรุงประสิทธิภาพกองกำลังปฏิบัติการของสหประชาชาติ การนำความริเริ่มและแนวคิดใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงาน เพื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของสหประชาชาติและกิจกรรมของสหประชาชาติ นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาควรเข้าร่วมและสามารถเข้าสังเกตการณ์การเจรจาหรือการประชุมร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงองค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องธรรมาภิบาล พร้อมนี้ได้ซักถามว่าสหประชาชาติจะสามารถสร้างเสริมคุณภาพและความโปร่งใสในการจัดทำรายงานการเงินให้มากยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้บรรลุมาตรฐานบัญชีสากล ซึ่งรัฐสภาสามารถแสดงบทบาทในการติดตามตรวจสอบกระบวนการดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่ารายงานทางการเงินมีความถูกต้องและโปร่งใส เสมือนกำลังทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ” นอกจากนี้ ในโอกาสการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พบปะหารือทวิภาคีกับ Ahmed Bin Abdullah Bin Zaid Al-Mahmoud ประธานสภาที่ปรึกษา (Shura Council) รัฐกาตาร์ โดยทั้งสองได้สนทนาเกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๑๔๐ และการประชุมอี่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ – ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในการนี้ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยเลขาธิการวุฒิสภาได้เข้าร่วมในการพบปะหารือทวิภาคีดังกล่าวด้วย
ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน