21 ธันวาคม 2567 พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พร้อมด้วย พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายปราญชา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พลตรี ฉัฐชัย มีชั้นช่วง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 พลตำรวจตรี ธวัชชัย ถุงเป้า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมสรุปผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ ประจำรอบ 3 เดือน (ต.ค.- ธ.ค.67) ในการดำเนินงานสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และรับฟังรับฟังการบรรยายสรุป ประชุมติดตามสถานการณ์ ข้อเสนอแนะ และปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) พร้อมมอบรางวัลแก่หน่วยที่มีผลตรวจยึด จับกุม ดีเด่นด้านยาเสพติด เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน ณ ห้องประชุมมณฑลทหารบกที่ 210 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้เร่งขับเคลื่อนและต่อยอดความสำเร็จจากปฏิบัติการ 90 วันใน 25 จังหวัดเป้าหมาย และยกระดับให้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการทุกมิติ ตั้งแต่การสกัดกั้นยาเสพติดระหว่างประเทศ เพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้า รวมถึงปราบปรามและยึดทรัพย์ผู้ค้า นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการค้นหาผู้เสพในชุมชน เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ส่งเสริมการฝึกอาชีพและการศึกษา พร้อมจัดระบบติดตามดูแล เพื่อป้องกันการกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติด มุ่ง “คืนคนคุณภาพสู่สังคม” และสร้างสังคมไทยปลอดยาเสพติด และนายกรัฐมนตรียังมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลัก (CEO) ด้านยาเสพติดของจังหวัดกำชับให้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งตำรวจ สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะ 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนครประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส อุทัยธานี ปทุมธานี นครพนม ระยอง นครศรีธรรมราช และตรัง ให้ใช้โมเดลความสำเร็จจาก อ.ท่าวังผา จ.น่าน และ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด โดยมี พล.ต.อ. ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้กำกับดูแล พร้อมทั้งสั่งการให้เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มการแจ้งเบาะแสยาเสพติดที่สามารถรักษาความลับผู้แจ้ง เพื่อให้ประชาชนแจ้งข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
สำหรับหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) เป็นหน่วยหลักในการบูรณาการสกัดกั้น ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกองกำลังป้องกันชายแดน เป็นส่วนสกัดกั้น ตำรวจภูธร เป็นส่วนปราบปราม และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จว.) เป็นส่วนป้องกัน ซึ่งการบูรณาการนี้ ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
และตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้มีประกาศให้จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกันและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแต่งตั้งให้แม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ผบ.นบ.ยส.24) มีอำนาจจัดตั้งกลไกต่างๆ รองรับการสั่งการ การปฏิบัติ และประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา จากผลการปฏิบัติที่ผ่านมาสามารถสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ายาเสพติดในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงประกาศกำหนดพื้นที่มีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและผู้รับผิดชอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ปึงบประมาณ 2568 ให้หน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) รับผิดชอบพื้นที่อำเภอชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 25 อำเภอ ตามมาตรา 5 (10) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิบัติของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) ประกอบด้วย จังหวัดเลย (อำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอท่าลี่ อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบึงโขงหลง อำเภอบุ่งคล้า อำเภอปากคาด) จังหวัดนครพนม (อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม อำเภอธาตุพนม) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอดอนตาล อำเภอหว้านใหญ่) จังหวัดอำนาจเจริญ(อำเภอชานุมาน) และจังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขมราฐ) โดยมอบหมายให้ กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบหลัก ทำหน้าที่ในการวางแผน บูรณาการ อำนวยการ และประสานการปฏิบัติในการสกัดกั้น ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งหน่วยได้ยึดถือ กรอบแนวทางการปฏิบัติใน 6 มาตรการหลัก คือ มาตรการสกัดกั้น, มาตรการปราบปราม, มาตรการป้องกัน, มาตรการบำบัดรักษา, มาตรการบูรณาการ และมาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันในทุกมาตรการ เพื่อให้พื้นที่รับผิดชอบ ปลอดจากการลักลอบนำเข้ายาเสพติด, ไม่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด, ปัญหา ยาเสพติดด้านอื่นๆ ได้รับการแก้ไขประชาชนเกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของจังหวัดนครพนม ได้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลสู่ “นครพนมโมเดล” โดยผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง 17 ธันวาคม 2567 ในห้วงตั้งแต่ 1 ต.ค. – 17 ธ.ค. 67 มีการดำเนินการตาม 6 มาตรการหลักอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การจับกุม 294 ครั้ง, ผู้ต้องหา 431 ราย, ตรวจยึดของกลางยาบ้า 45,569,926 เม็ด, ไอซ์ 1,528 กิโลกรัม, เฮโรอีน 102 กิโลกรัม และอื่นๆ รวมเป็นมูลค่า 3,017,724,660 บาท
พรพิพัฒน์ เพ็ชรสังหาร รายงาน