ข่าว สรุาษฎร์ธานี ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

สุราษฎร์ธานีเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ หวังสร้างงานสร้างรายได้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

22 พฤศจิกายน 67  นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมนางยวน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีนางสมพร ดวงแก้ว ผู้อำนวยการสถาพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี ผู้แทนส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อรับทราบผลการดำเนินโครงการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวนเป้าหมายและงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร และตารางกำหนดการรายงานผลการดำเนินโครงการฯ ผ่านระบบ Vocational Skills Enhancement Project (VSEP) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รวมถึงพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้แก่ ปฏิทินการดำเนินงานตามโครงการฯ การกำหนดวันดำเนินการ กำหนดหลักสูตรที่จะเปิดฝึกอบรม การเพิ่มจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาเข้าร่วมโครงการฯ กรณีจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ไม่เป็นไปตามเป้า การสนับสนุนเงินช่วยเหลือประเภทต่างๆ ให้แก่นักเรียนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อชดเชยรายได้ระหว่างการฝึกอบรมตามโครงการ และการจัดหางานรองรับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จบการฝึกอบรมฯ

ทั้งนี้โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับเป็นโครงการซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น ร่วมประชุมและลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พร้อมทั้งชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ให้นักเรียนที่จะจบการศึกษาภาคบังคับและไม่ได้เรียนต่อ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป ในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ”

สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เริ่มดำเนินการโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสนับสนุนให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ช่วยให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในส่วนของตนเองและครอบครัว โดยในปีงบประมาณ 2568 มีเป้าหมายผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือ ม.3 ที่ไม่ได้ศึกษาต่อ จำนวน 10 คน เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพต่อไป.