Uncategorized

ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง การประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ณ อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิทางศาสนา และกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวน 40 จังหวัด เข้าร่วมประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี โดยรองอธิบดีกรมการปกครอง ได้ชี้แจงขั้นตอนการสรรหาจุฬาราชมนตรี คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ขั้นตอนการสรรหาจุฬาราชมนตรี พร้อมการเสนอชื่อและการรับรองผู้ถูกเสนอชื่อ สืบเนื่องจากนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุให้ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และข้อ 1 ของกฎกระทรวง พ.ศ. 2542 ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี โดยให้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมสรรหา และให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย

โดยผลการสรรหา และการให้ความเห็นชอบมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี คนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 6 ความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และขั้นตอนจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามข้อ 3 วรรคสอง หรือตามข้อ 4 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีต่อไป

ตามกฎหมาย การสรรหาจุฬาราชมนตรีมี 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 – เมื่อตำแหน่งจุฬาราชมนตรีว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมสรรหาและให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

ขั้นตอนที่ 2 – จัดประชุมกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ โดยองค์ประชุมต้องมีกรรมการอิสลามมาร่วมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มีอยู่
จากการตรวจสอบผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกจุฬาราชมนตรี คือ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 40 จังหวัด (คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ไม่ได้มีครบทุกจังหวัด) มีจำนวนทั้งสิ้น 816 คน

ขั้นตอนที่ 3 – การเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละท่าน เสนอได้ 1 ชื่อ มีผู้รับรอง 20 คน ถ้าเสนอชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 1 ชื่อ แต่ไม่เกิน 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากกำหนดหมายเลข
ถ้ามีผู้ได้รับการเสนอชื่อมากกว่า 3 ชื่อ ให้ประธานจับสลากเลือกรายชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จังหวัดละหนึ่งชื่อ เป็นคณะกรรมการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เหลือเพียง 3 ชื่อ หากคะแนนออกมาเท่ากัน ให้ประธานจับสลาก

ขั้นตอนที่ 4 – ลงคะแนน โดยวิธีลงคะแนนลับ
บัตรลงคะแนน ใช้บัตรลงคะแนนของกระทรวงมหาดไทยระยะเวลาในการลงคะแนน ให้ที่ประชุมกำหนด
ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ถ้าคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้เลือกใหม่เฉพาะผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเท่ากัน ถ้ายังเท่ากันอีก ให้ประธานจับสลาก

ขั้นตอนที่ 5 – รมว.มหาดไทยเสนอชื่อ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ให้ รมว.มหาดไทยเสนอชื่อผู้ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามข้อ 3 วรรคสอง หรือตามข้อ 4 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี

สำหรับอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี คือ
-ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม
-แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม
-ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
-ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม