ร้อยเอ็ดลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ตามโครงการส่งเสริมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าว อนุรักษ์วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
สมนึก/ร้อยเอ็ด/0885730542—--วันนี้ 22 พ.ย. 2561 เวลา 10.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้ นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน “พิธีลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ตามโครงการส่งเสริมกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวนวดข้าว อนุรักษ์วิถีไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ณ แปลงนาบ้านฮ่องแฮ่ หมู่ที่ 4 ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ดโดยนายคงคา ชื่นจิต นายอำเภอปทุมรัตต์ได้รายงานถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการว่า อำเภอปทุมรัตต์เดิมได้มีวัฒนธรรมประเพณี ที่ดีงาม เช่น การลงแขกดำนา และลงแขกเกี่ยวข้าว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมดังกล่าวกำลังจะหายไป ทั้งๆที่เป็นกิจกรรมในการสร้างความรัก ความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน จึงทำให้นายดำรงค์ สีลา ประธานสภาชุมชนโนนสวรรค์ และชาวบ้านตำบลโนนสวรรค์ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวนี้ขึ้น เพื่อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมและสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน กิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การลงแขกเกี่ยวข้าว และการนวดข้าวด้วยไม้ตี แบบวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ นายเลิศบุศย์ กองทอ งรองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้ให้ข้อคิดและแนะแนวทางการทำนาในปัจจุบันชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ว่า “จะต้องนำงานวิจัยมาใส่แปลงนา” โดยยกตัวอย่างแปลงนาสาธิต เกษตรกรที่บ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าได้ทำนาแบบ System of Rice Intensification – (SRI) หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบบการปลูกข้าวแบบเข้มข้นเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว” ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบ 1 ต้น ต่อ 1 หลุม ระยะห่าง 40 ซม. มีการควบคุมน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อให้ต้นข้าวมีการแตกกอมากขึ้น มีผลผลิตเฉลี่ยต่อกอมากขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงขึ้น ซึ่งทดลองแล้วว่าระบบนี้ให้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด มีวิธีการทำ คือ การปรับปรุงดิน(ตามคำแนะนำกรมพัฒนาที่ดิน) การบริหารจัดการน้ำ(ไม่ให้สูงเกิน 5-10 ซม.แบบเปียกสลับแห้ง) และปักดำนาแบบต้นกล้าต้นเดียว โดยมีระยะห่าง 40 เซนติเมตร ซึ่งกรมการข้าวและศูนย์วิจัยข้าว ได้วิจัยแล้วว่าเป็นวิธีการที่เพิ่มผลผลิตให้กับข้าวหอมมะลิ 105 มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ไม่ต่ำกว่า 800 กิโลกรัม ซึ่งแปลงนาสาธิตที่ตำบลเมืองบัว ในปีแรกได้ผลผลิตเฉลี่ย 751 กิโลกรัมต่อไร่ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้จะสามารถนำไปปรับใช้ในฤดูการผลิตในปีต่อไป