ข่าวพระราชสำนัก ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น นครศรีธรรมราช

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

22 ตุลาคม 67 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จ ฯ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวันที่ 2 ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเมื่อรถบัสพระที่นั่งถึงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม มีพลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนฝ่ายตุลาการ ศาล ทหาร ตำรวจ เฝ้าฯ รับเสด็จ

นายชาญณรงค์ ส่งแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม ถวายรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับ ตำบลแหลมตะลุมพุก การเกิดพายุโซนร้อนแฮเรียต พ.ศ. 2505การกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม

“แหลมตะลุมพุก” คำว่า ตะลุมพุก มาจากชื่อปลาซึ่งอดีตมีชุกชุมในบริเวณปลายแหลมแห่งนี้ ปัจจุบันปลาตะลุมพุกไม่ค่อยมีแล้ว จากบันทึกจดหมายเหตุ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินแหลมตะลุมพุก เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2432 โดยได้บรรยายสภาพความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของประชาชนว่า “ที่แหลมนี้ เป็นหาดแคบนิดเดียวแต่ยังยาววงเป็นอ่าวเข้าไปไกล มีเรือนประมาณ 70 หลัง ปลูกมะพร้าวมาก มีของที่เป็นสินค้าขายออก คือ ปลาเค้า ปลากระบอก เคย ประชากรอพยพมาอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 800 ครัวเรือน”


“แหลมตะลุมพุก” ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นแหลมทราย รูปจันทร์เสี้ยวที่ยื่นไปในอ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 29.14 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือ จดกับอ่าวนครศรีธรรมราช ทิศใต้ จรดกับตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ทิศตะวันออก จดกับทะเลอ่าวไทย และทิศตะวันตก จดกับอ่าวปากพนังแหลมตะลุมพุก มีลักษณะเป็นแนวสันทรายซึ่งเกิดขนานกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของภาคใต้ ชายฝั่งด้านอ่าวไทยของแหลมตะลุมพุกเป็นหาดทรายขาวสะอาด มีต้นสนขึ้นเป็นแนวยาวสวยงาม ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรืออ่าวปากพนังเป็นฝั่งชายเลนเต็มไปด้วยป่าไม้โกงกางและป่าชายเลนอื่น ๆ ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มากประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ในปี พ.ศ.2505 แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ต้องเผชิญกับมหาวาตภัยของพายุโซนร้อนแฮเรียต ส่งผลให้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 911 ซึ่งยังไม่รวมผู้สูญหายและผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อย ประชาชนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยได้รับยอดบริจาค พร้อมกับสิ่งของต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินจำนวนนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปสร้างโรงเรียน 12 แห่งใน 6 จังหวัดภาคใต้ทดแทนโรงเรียนที่ถูกพายุพัดพังทลายไป

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม ปี พ.ศ. 2496 โรงเรียนยังคงชื่อ “โรงเรียนบ้านปลายแหลม” เมื่อได้เกิดเหตุการณ์มหาวาตภัย คืนวันที่ 25 ตุลาคม 2505 เกิดมหาวาตภัยพายุโซนร้อน “แฮเรียต” พัดถล่ม อาคารเรียนพังพินาศ นักเรียน 70 คน ครู 1 คน หลังจากมหาวาตภัยสงบแล้วทางโรงเรียนได้ใช้ศาลาชั่วคราว ของวัดสุเทพธารามเป็นที่เรียนของนักเรียน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น วันที่ 6 กรกฎาคม 2506 มูลนิธิจุลจักรพงษ์ ได้ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร แบบ 000/พิเศษ จำนวน 1 หลัง 5 ห้องเรียน วันที่ 21 กรกฎาคม 2507 และ วันที่ 22 มีนาคม 2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระเมตตา เสด็จเยี่ยมโรงเรียนและราษฎรตำบลแหลมตะลุมพุก


วันที่ 6 สิงหาคม 2529 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามโรงเรียนบ้านปลายแหลมเป็น “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์” และเป็นโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่ไม่มีหมายเลขต่อท้ายนามโรงเรียน วันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2529 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

ปัจจุบันโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ได้มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนจำนวน 113 คน และบุคลากรทางการศึกษาจำนวน 17 คน ภายใต้การบริหารงานของ นายชาญณรงค์ ส่งแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลม มีการบริหารงานและพัฒนาผู้เรียน เป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานให้กับนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้การสนับสนุนการจัดการศึกษาของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งพลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ติดตามตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์บ้านปลายแหลมอยู่อย่างสม่ำเสมอ