พังงา- ธรรมนัสเปิดงานอิ่มบุญกินผัก ปิดตลาดท้ายเหมืองกินเจฟรีกว่า100ร้าน สืบสานประเพณีถือศีลกินผัก2566
เมื่อเวลา17.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่ตลาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “กินผักอิ่มบุญ เทศบาลตำบลท้ายเหมือง” ที่ทางเทศบาลตำบลท้ายเหมือง ร่วมกับศาลเจ้าเล่งสั้นเก้ง จัดขึ้นเพื่อสืบสานประเพณีถือศีลกินผักประจำปี2566 โดยมีนายศิวัชฐ์ ระวังกุล นายอำเภอท้ายเหมือง นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ สส.พังงา เขต 2 นายบำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายก อบจ.พังงา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนที่ถือศีลกินผักเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ร่วมงานสามารถทานอาหารเจฟรีได้ทั้งงานจำนวนกว่า100 ซุ้ม ซึ่งแต่ละซุ้มได้รังสรรค์เมนูอาหารเจทั้งอาหารพื้นถิ่นและอาหารอินเตอร์แจกให้ผู้ร่วมงาน สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่เป็นอย่างมาก
นายวีระศักดิ์ พวงจิตร นายกเทศมนตรีตำบลท้ายเหมือง กล่าวว่า ประเพณีถือศีลกินผัก เป็นกิจกรรมที่ชาวไทยเชื้อสายจีนได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน โดยกำหนดวันตามจันทรคติเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินจีน เป็นประเพณีที่หล่อหลอมจิตใจของคนให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมอันดี คือ คิดดี พูดดี ทำดี บำเพ็ญศีลสมาทาน ไม่รับประทานอาหารคาว ละเว้นไม่กระทำการเบียดเบียนสัตว์โลก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน ทางเทศบาลตำบลท้ายเหมืองได้จัดงานนี้ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี
นายบำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายก อบจ.พังงา กล่าวว่า ในสมัยที่ตนเองเป็นนายก อบจ.พังงานั้น ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมงานอิ่มบุญ9บาท สืบสานประเพณีถือศีลกินผักของจังหวัดพังงา ในพื้นที่ตลาดพังงา ตลาดโคกกลอย ตลาดท้ายเหมือง และตลาดตะกั่วป่า เป็นประจำทุกปี และในปีนี้ได้รับการประสานจากทางนายกเทศมนตรีตำบลท้ายเหมืองว่าอยากจัดงานกินผักอิ่มบุญขึ้น แต่มีงบประมาณที่จำกัด ตนเองจึงได้ร่วมกับทีมงาน เข้ามาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดงานในครั้งนี้
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นอันดีงามที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนาน เป็นการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมประเพณีให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ และสร้างความรักความสามัคคีของประชาชนในชุมชน สร้างทัศนคติ จิตสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน