ปฏิเสธวุ่น ถูกนำชื่อเครือข่ายไปอ้าง หลังกลุ่มเห็นต่างซ่อมถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ยื่นหนังสือถึงผวจ.เพชรบุรี ขอให้ชะลอโครงการ เพื่อทำอีไอเอและรับฟังความคิดเห็นประชาชน
วันนี้ 22 ต.ค.61 ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี เครือข่ายภาคประชาชนประมาณ 30 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงผวจ.เพชรบุรี เพื่อขอให้ชะลอโครงการปรับปรุงผิวทางสายบ้านกร่าง-เขาพะเนินทุ่ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผวจ.เพชรบุรี เป็นตัวแทนผวจ.เพชรบุรี เป็นผู้รับหนังสือฉบับดังกล่าว
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากการอนุมัติสร้างถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตรขึ้นเขาพะเนินทุ่งในอุทยานชาติแก่งกระจาน พวกเราในนามเครือข่ายภาคประชาชนที่รู้สึกห่วงใยในผืนป่าแก่งกระจานไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงเส้นทางขึ้นเขาพะเนินทุ่งให้เป็นทางคอนกรีตตลอดทั้งสาย เนื่องจากถนนเส้นนี้จะสร้างผ่านพื้นที่ใจกลางอันเปรียบเสมือนหัวใจของผืนป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในอุทยานฯ โดยเป็นบ้าน ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าหายาก เช่น เสือ สัตว์ป่าสงวน อย่างเก้งหม้อ เลียงผา
เส้นทางนี้สร้างครั้งแรกในปี 2528 ซึ่งต่อมาได้มีการลาดยางตลอดเส้นทางบนภูเขาจนกระทั่งเมื่อการท่องเที่ยวป่าเป็นที่นิยมมากขึ้นเส้นทางนี้ก็มีนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นมาเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บ้างมาเพื่อศึกษาธรรมชาติ บ้างมาเพื่อชมวิวทะเลหมอกอันสวยงามบนเขาพะเนินทุ่ง พวกเราได้พบว่าหลังจากที่มีจราจรหนาแน่นขึ้น พื้นที่หากินของสัตว์ป่าหลบหนีออกจากจากแนวถนนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพผิวถนนที่ชำรุด ตามกาลเวลา บางจุดโดนทางน้ำกัดเซาะพังทลาย รถที่จะเข้าได้จึงมีแต่เพียงรถกระบะหรือ 4WD ไหล่ทางชำรุด ทางแคบรถไม่สามารถสวนกันได้จึงต้องมีการจัดการให้มีการขึ้น-ลงเขาเป็นเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงรถสวนกัน ลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่เอื้ออำนวยนี้ในทางหนึ่งก็ช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวไม่ให้ขับรถเร็วเกินไปหรือมีจำนวนมากจนเกินไปนัก
“นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน์หลายท่านเห็นว่า ที่จริงแล้วบริเวณพะเนินทุ่งนี้เหมาะจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่าเป็นอุทยานแห่งชาติเพราะมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ควรจัดการให้มีการรบกวนจากมนุษย์น้อยที่สุด นอกจากนี้ก็ไม่ได้มี แหล่งท่องเที่ยวนันทนาการ เช่น น้ำตกขนาดใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่าย ขณะเดียวกันการขยายถนน-ปรับปรุงผิวถนนให้เป็นคอนกรีตตลอดสายนั้น ทำให้การจราจรสะดวก การขับรถสามารถใช้ความเร็วสูงขึ้น และปริมาณรถที่วิ่งจะมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสูญเสียสัตว์ป่าจากการถูกรถทับ รถชนเป็นสาเหตุการตายของสัตว์ป่าที่สำคัญมากไม่น้อยกว่าการล่าสัตว์ป่าเลยทีเดียวดังที่เราเห็นตัวอย่างซากสัตว์ป่าที่ถูกรถชนอยู่เป็นประจำบนถนนที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือ ปางสีดา ซึ่งสถิติจากเฉพาะถนนที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน พบมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายถึงปีละประมาณ 3,000 ตัว”ในหนังสือระบุ
แม้ในอนาคตอุทยานฯตั้งใจออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่น การจำกัดความเร็วของการขับขี่ หรือควบคุมปริมาณยานพาหนะที่สัญจร แต่มาตรการเหล่านั้นยังเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าเราจะบังคับใช้ได้เข้มงวดเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวซึ่งดูจะล้มเหลวในทางปฏิบัติมาตลอดแทบทุกอุทยานฯ อีกทั้งนโยบาย กฎระเบียบนั้นก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาซึ่งขึ้นกับผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ลักษณะทางกายภาพถนนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการลดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์
พวกเราเข้าใจดีว่า ย่อมมีความต้องการจากหลายฝ่าย ทั้งทางจังหวัดหรือการท่องเที่ยวที่อยากอำนวยความสดวกให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวสดวกและปลอดภัย ซึ่งนำสู่การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวด้วย อย่างไรก็ตามเราจำเป็นจะต้องนึกถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งเขตป่าอนุรักษ์ฯไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติแม้เราจะอนุโลมให้มีการแบ่งโซนให้มีใช้ประโยชน์ทางนันทนาการการท่องเที่ยวได้ แต่เป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุด ก็ยังเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลทางระบบนิเวศ
อนึ่ง พวกเราเห็นด้วยกับการซ่อมแซมเส้นทางนี้ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยของทั้งนักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ของการลาดตระเวน แต่แทนที่เราจะไปปรับปรุงสภาพถนนเป็นคอนกรีตตลอดเส้นทาง เราน่าจะหันมาแก้ไขปรับปรุงเฉพาะบางจุด ที่มีความเสี่ยง ชำรุดซ้ำซาก เช่น ช่วงที่มี ความลาดชันสูงหรือ จุดที่มีน้ำกัดเซาะ มีดินถล่มซ้ำซาก ด้วยวิธีนี้ น่าจะเป็นหนทางลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าลงไปได้มาก อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณได้ไม่น้อย บ่อยครั้งที่ประชาชนมักทราบข่าวโครงการต่างๆ ของรัฐต่อเมือ ขั้นตอนได้ถูกดำเนินการมาไกลแล้ว จนหลายคนบ่นว่า ทำไมจึงเพิ่งออกมาคัดค้าน ในความจำเป็นก็คือประชาชนทั่วไป ไม่เคยทราบข้อมูลแต่ต้น และไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ เรื่องสำคัญ ที่เกี่ยวกับความอยู่รอดของทรัพยากรอันมีค่าของประเทศเช่นนี้ พวกเราไม่อยากขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คน ที่สำคัญพวกเราอยากให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในวงกว้างเพราะผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกทางธรรมชาติอันหวงแหนของพวกเราทุกคน จึงใคร่ขอเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม และเป็นผลดีในระยะยาว ท้ายหนังสือระบุ เครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจาน และมีกลุ่มศิลปินเพื่อป่าแก่งกระจาน โดยนายจำลอง วิลัยเลิศ เป็นตัวแทน องค์กรชุมชนตำบลหนองชุมพลเหนือ โดยนางสาวผัลย์ศุภา แดงประดับ เป็นตัวแทน กลุ่มตกปลาแม่น้ำเพชรบุรี จำรัส ฟิชชิ่ง โดยมีนายธีรวัฒน์ นามดวง เป็นตัวแทน และกลุ่มอนุรักษ์ช่วยเหลือสัตว์ป่า โดยนางนพรัตน์ ขันทองดี เป็นตัวแทน
นายจำลอง วิลัยเลิศ ผู้แทนกลุ่มศิลปินเพื่อป่าแก่งกระจานได้กล่าวขณะการยื่นหนังสือว่า วัตถุประสงค์มี 3 ประเด็นหลัก คือขอให้ชะลอโครงการก่อนเพื่อทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะที่รองผวจ.เพชรบุรีกล่าวว่า วันนี้ท่านผวจ.เพชรบุรีทราบเรื่องแล้ว แต่ติดประชุมที่กระทรวงตนเองจึงมารับหนังสือแทน
หลังการยื่นหนังสือ ผสข.ไทยติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังนายสามารถ ม่วงไหมทอง ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายพิทักษ์รักป่าแก่งกระจานว่า ก่อนหน้านี้เห็นนายสามารถซึ่งเป็นประธานเครือข่ายฯและเป็นอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนแรก ซึ่งเป็นคนสำรวจพื้นที่ที่ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเป็นคนวางแนวเส้นทางทำถนนขึ้นเขาพะเนินทุ่ง ได้ออกมาให้ความเห็นว่า เห็นด้วยและเป็นคนย้ำกับหัวหน้าทุกคนที่ผ่านมาว่าต้องทำการซ่อมแซมถนนเส้นนี้ เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้เดินทางไปไม่ถึงพะเนินทุ่ง ทำให้ไม่สามารถส่งกำลังชุดลาดตระเวนไปต้นแม่น้ำเพชรบุรีได้ อีกทั้งทางเส้นนี้ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปชมทะเลหมอกอีกด้วย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก มันมีความคงทน แข็งแรง อายุใช้งานนานกว่าลาดยาง หากคิดว่าไม่เข้ากับธรรมชาติ ก็สามารถขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ทางจังหวัด หรือทางรัฐบาล มาทำผิวทางเป็นลาดยางแบบ ซิงเกิลเซอร์เฟสต์ทับหน้าได้ จึงเห็นด้วยที่ให้ทำไปก่อน แต่ทำไมในหนังสือที่ยื่นให้ผวจ.เพชรบุรี จึงลงท้ายหนังสือว่า เป็นเครือข่ายพิทักษ์รักษ์ป่าแก่งกระจานเป็นหลัก พร้อมมีการทำแผ่นไวนิลคัดค้านและลงชื่อเครือข่ายดังกล่าวด้วย
นายสามารถชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้นายจำลอง ได้โทรศัพท์มาบอกเรื่องนี้กับตนว่าไม่เห็นด้วย แต่ตนเองได้อธิบายให้ฟังไปแล้วว่า มันจำเป็นเพราะขณะนี้ผิวทางเสียหายไปหมดแล้ว ลุกลามไปถึงชั้นพื้นทางแล้ว จำเป็นต้องทำ ก็ยังนึกว่านายจำลองเข้าใจแล้ว แต่ทำไมไปทำหนังสือยื่นแล้วระบุเช่นนี้ ตนเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน
ขณะที่นายสมศักดิ์ อิสมันต์ยี หัวหน้าวงคีตาญชลี ทราบข่าวเรื่องนี้เพราะเคยถูกชักชวนและตอบปฏิเสธไปเพราะไม่อยากไปร่วมเคลื่อนไหวด้วยเนื่องจากไม่ทราบที่มาที่ไปของเรื่องนี้ ออกมาระบุว่า หากมีใครนำชื่อตนเองไปร่วมเคลื่อนไหว ต้องขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นและบอกคนชักชวนไปแล้วว่า ตนเองไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
ขณะที่นายสุรพล นาคนคร อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เผยว่าเรื่องนี้ มีการยื่นฟ้องไปยังศาลปกครองเพชรบุรีแล้ว ก็น่าจะรอผลคดีว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องที่ว่ามีการอุบแอบทำคงไม่ใช่ เพระเรื่องนี้ได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานฯไปแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็ไม่ขัดข้องอะไรเพราะได้ดูและสอบถามรายละเอียดรวมทั้งมาตรการขณะดำเนินการและหลังดำเนินการว่าต้องเข้มงวดและไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหาย โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานชุดนี้ก็มี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี อดีตสว.เพชรบุรี เป็นประธาน มีนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีนายสามารถ ม่วงไหมทอง นายอำเภอทุกอำเภอและนายกอปท. ผู้ใหญ่บ้าน กำนันทุกอำเภอที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการและรับทราบเรื่องการปรับปรุงผิวถนนที่มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่างก็ไม่ขัดข้องใดๆทั้งสิ้นและยังย้ำให้ดูและและควบคุมการปรับปรุงรวมทั้งมาตรการต่างๆให้ดีด้วยซ้ำไป.
ทีมข่าว เพชรบุรี