วัดป่าดาราภิรมย์พระอารามหลวง ถวายน้ำสรง “พระทันตธาตุ” (พระเขี้ยวฝาง) พระพุทธรูปสำคัญ และอัฐิธาตุ บูรพาจารย์ เนื่องในวันวิสาขบูชา
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมพ.ศ. 67 พระเทพวชิราธิบดี เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน – แม่ฮ่องสอนท(ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์
อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ประกอบพิธีถวายน้ำสรง “พระทันตธาตุ” (พระเขี้ยวฝาง) พระพุทธรูปสำคัญ และอัฐิธาตุบูรพาจารย์ พร้อมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันวิสาขบูชา โดยมีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก บริเวณศาลาภายในวัดป่าดาราภิรมย์ และจะมีกิจกรรมเวียนเทียนในช่วงเย็นของวันนี้ด้วย
จากตำนานเล่าขานว่า พระทันตธาตุเจ้าองค์ประเสริฐ ที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง แห่งนี้เป็นพระทันตธาตุ 1 ใน 36 องค์ ที่ไม่ได้ถูกเพลิงทิพย์ไหม้ไปพร้อมกับพระพุทธสรีระ มีสัณฐานเป็นฟันกราม “เขี้ยวฝาง” ที่สมบูรณ์มีวรรณะสีดอก จำปาหุ้มด้วยทองคำ มีอักษรจารึกว่า “ศากยะ” อันเป็นพระนามของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมีความเป็นมาตามจารึกที่พบบนผอบพระทันตธาตุ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากพระองค์ ทรงประกาศอิสรภาพได้ทรงร่วมกับพระอนุชาพระเอกาทศรถ รวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ให้อยู่ในขัณฑสีมาเดียวกันเมื่อทรงปราบ เมืองหงสาวดีแล้ว ได้เดินทัพมาถึงรัฐไทยใหญ่ในสมัยนั้น ยังความยินดีแก่ข้าแผ่นดินทั้งหลาย พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างพระเจดีย์ไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์จึงได้รับคำแนะนำจากพระสังฆาจารย์สมเด็จพระวันรัต (มหาเถรคันฉ่อง) ให้นำคณะสงฆ์ และกรมการไปอัญเชิญพระทันตธาตุนี้ จากเมืองลังกามาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์แห่งนี้ กับทั้งถวายเครื่อง สัพพะบริวารพร้อมจารึก พระนามของพระองค์และพระอนุชาเป็นพุทธบูชา
ต่อเมื่อการล่วงเลยมาถึงปัจจุบันพระธาตุดังกล่าวได้รกร้าง จนมีคณะศรัทธาชาวไทยเดินทางไปบูรณได้พบ ผอบบรรจุพระทันตธาตุ และเครื่องบริวารจึงทราบความเป็นมาการจารึกอักษรล้านนาบนผอบดังกล่าว จึงได้ขออนุญาต เจ้าอาวาส นำพระทันตธาตุและเครื่องบริวาร ที่ขุดพบ กลับมาประดิษฐานที่เมืองไทย ถวายไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของเหล่าเทวดาและพุทธศาสนิกชนชาวไทย บนยอดสุดบรรจุพระบรมธาตุที่ ได้รับประทานมอบจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เปรียบเหมือนจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพานโดยมีพระวิหารหลวงหอคำ พระอุโบสถดารารัศมี หอกิตติคุณมณฑป พระเจ้าทันใจ เปรียบเสมือนชมพูทวีป ตลอดจนถึงป่าไม้ในวัดเปรียบเสมือนป่าหิมพานต์ รูปปั้นพญานาค สิงห์ เปรียบเหมือนสัตว์ในป่าหิมพานต์ ซุ้มประตูโขง เปรียบเหมือนประตูแห่งจักรวาล คลองชลประทานหน้าวัด และสระแห่งพระอุปคุตเปรียบเหมือนคงคา สนามหญ้าที่อยู่รายรอบแทนสนามทรายเปรียบเหมือนมหาสมุทรสีทันดร
ทั้งหมดเป็นการจำลอง คติความเชื่อทางระบบจักรวาลในคติโบราณของชาวพุทธโดยอาศัยยอดมณฑปองค์พระบรมธาตุเป็นแกนของจักรวาล แล้วเสร็จพิธีฉลองสมโภชเมื่อวันที่ 19 -20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553.