21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณท่าเรือรัชดาภิเษก (กาแลตาบา) อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดงาน”ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านกาลเวลา สืบสานตำนานเล่า ขานเมืองตากใบ”
โดยมี นายกฤษฎา สุขสบาย นายอำเภอตากใบ นายซันตารา นูซันตารา นายกเทศมนตรีเมืองตากใบ ดร.วสันต์ พลาศัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ คณาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับการจัดงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “ทุนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเทศบาลเมืองตากใบเพื่อสร้างการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมโดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐาน” โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับเทศบาลเมืองตากใบและภาคีเครือข่าย ทั้ง 9 ชุมชนใน เขตเทศบาลเมืองตากใบ อันประกอบด้วย ชุมชนบางน้อย ชุมชนตลาดตากใบ ชุมชนภัทรภักดี ชุมชนสามัคคี ชุมชนท่าแพรก ชุมชนตาบาตะปอเยาะ ชุมชนตาบาฮีเล ชุมชนตาบาปาเระ และ ชุมชนฮูมอลานัส
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ทั้งยังรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเทศบาลเมืองตากใบ ทั้งนี้ภายในงานประกอบด้วยการจัดแสดง นิทรรศการใน 8 ด้าน ได้แก่ อาหาร อาชีพ สถาปัตยกรรม การแต่งกาย ภาษา ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม และการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งได้พัฒนาความรู้ในการสร้างแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่เหมาะสมทุกช่วงวัย คือ หลักสูตรทักษะอาชีพ จำนวน 7 หลักสูตร และหลักสูตรตากใบน่าเรียนรู้ จำนวน 6 หลักสูตร รวม 13 หลักสูตร อีกทั้งยังมีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้เทศบาล เมืองตากใบสู่การสร้างโอกาสการเรียนรู้ทุกช่วงวัย” พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจาก สถานศึกษาต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และนักท่องเที่ยว
ด้านว่าที่ร้อยตรี ตระกูล โทธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่าอำเภอตากใบ มีเอกลักษณ์ทางท้องถิ่นที่สำคัญ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้สืบทอด และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ทั้งนี้ การพัฒนาตลาดการค้าชายแดนในพื้นที่อำเภอตากใบ ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจะต้องเกิดความร่วมมือของคนในพื้นที่ ได้ร่วมพัฒนาโดยนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นมาเป็นจุดขาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวในพื้นที่ฯ ให้มากยิ่งขึัน และถือว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายความคิด เพื่อต่อยอดในอนาคตต่อไป