ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ( ศอ.ปกป.ภาค 3 )ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งระบายฝุ่นละอองในอากาศ ภายหลังพบค่าฝุ่นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
วันที่ 22 มกราคม 2568 ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ พลตรีชายแดน กฤษณสุวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 พร้อมคณะตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายแผนการปฏิบัติปี 68 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ โดยมี นายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 กล่าวว่าตรวจเยี่ยมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังแผนการปฏิบัติปี 68 ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จว.ภาคเหนือพบว่า เริ่มมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก เกินเกณฑ์มาตรฐานหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ดังนั้น ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาค 3 ( ศอ.ปกป.ภาค 3 )จึงได้ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือและศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ(ตอนล่าง) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งระบายฝุ่นละอองในอากาศ โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 3 ลำขึ้นบินฉีดสเปรย์น้ำเจาะชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่นออกจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยเฉพาะ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย และ จ.อุตรดิตถ์
ด้านนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ(ตอนล่าง) มีแผนการบิน (เพิ่มเติม) ในการเป็นหน่วยดัดแปรสภาพอากาศ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก เพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยใช้เทคนิคการก่อเมฆ การเลี่ยงเมฆเพื่อดูดซับและระบายฝุ่นละออง และเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันเพื่อระบายฝุ่นก่อนเข้าพื้นที่(ในวันที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีปริมาณน้อย)
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตลอดจนในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อพิจารณาพื้นที่เป้าหมายเทียบความเข้มข้นก่อน-หลัง ปฏิบัติการ พบว่าค่าฝุ่นละออง (Pm2.5) มีแนวโน้มลดลง โดยการเปลี่ยนแปลงลดลงน้อยกว่าวันก่อนหน้า และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ มีแนวโน้มคงที่ และมีค่ามากกว่าวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ยังคงประชุมวางแผนการปฏิบัติการระบายฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5).