ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น ข่าวแพร่

ผู้ว่าฯแพร่ นำทีมนั่งเรือท้องแบนสำรวจลำน้ำยม เพื่อร่วมแก้ปัญหาลำน้ำตื้นเขินในช่วงฤดูแล้งและอุทกภัย 

21 มกราคม 2568  นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นายอำเภอเมืองแพร่ นายอัสนี จารุชาติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ นางสาวรำพู จันต๊ะปะตุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ นายธีระ นาคฉ่ำ ปฎิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม นายถาวร ชาญไชย รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ อธิชัย ต้นกันยา ประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ และ นายสุภวัฒน์ ศุภศิริ นายกเทศบาลตำบลป่าแมต ได้ลงเรือลงเรือท้องแบนสำรวจลำน้ำยม เพื่อหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ณ ท่าน้ำบ้านสุพรรณ หมู่ที่ 3 ต.ป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯแพร่ เปิดประเด็นสอบถามกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนลงเรือสำรวจลำน้ำยม ว่าได้รับแจ้งในช่วงหน้าแล้ง ก็จะมีการกั้นน้ำยมเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในช่วงฤดูแล้งจึงทำให้ให้มีการสร้างสิ่งลุกล้ำทางน้ำขึ้น อาทิ การสร้างกระสอบทรายเพื่อสร้างฝายน้ำล้นชั่วคราว แต่พอเมื่อเข้าช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก กระสอบทราย หรือสิ่งลุกล้ำในลำน้ำยม ได้ทำให้เกิดการตื้นเขินและทำให้การไหลของน้ำไม่ดีพอและทำให้น้ำไหลผ่านจังหวัดแพร่ช้าลง นั้น


นายอัสนี จารุชาต ผุ้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ ได้รายงานว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 น้ำแม่น้ำยมไหลมาวัดได้ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 10.52 เมตร แต่ปี 2567 วัดน้ำได้ที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ระดับน้ำสูงขึ้นไปถึง 11.25 เมตร คือเรามีสถานีอุทกวัดระดับน้ำอยู่แล้ว สันนิษฐานว่า หนึ่ง แม่น้ำยมตื้นเขิน สอง มีสิ่งลุกล้ำลำน้ำยม เพราะในช่วงหน้าแล้งก็จะมีการกั้นกระสอบทรายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พอหมดภัยแล้งเราก็ไม่ได้เอากระสอบทรายออก ทรายมันก็ไหลไปตามลำน้ำ ทั้งตื้น และทั้งทำให้ระดับน้ำยมยกขึ้นสูงอีกด้วย

นายถาวร ชาญไชย รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาแพร่ กล่าวว่า ในเรื่องของการกั้นกระสอบทรายแล้วการขออนุญาตก็สามารถทำได้ แต่เมื่อผู้ใช้ไม่ใช้แล้วต้องยกออกไป ที่ผ่านมาไม่ได้มองถึงเรื่องนี้ ต่อไปการขออนุญาตจะต้องมีการประชาคมในพื้นที่ มีความยินยอมของอำเภอ และท้องถิ่น ส่วนสิ่งลุกล้ำลำน้ำ เช่น ฝาย ท่าเรือ เขื่อนป้องกันตลิ่ง สะพาน เป็นต้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากจังหวัดก่อนว่าไม่ขัดต่อแผนพัฒนาจังหวัดแพร่และสิ่งแวดล้อม  ตอนนี้กรมเจ้าท่าเองแม้ว่าไม่ได้รับงบประมาณมาขุดลอก แต่ก็รณรงค์ประชาสัมพันธ์เข้าไปกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ตั้งโครงการขุดลอกต่างตอบแทนโดยไม่ใช้งบประมาณ อย่างพื้นที่น้ำยมในจังหวัดแพร่ หลายจุดที่เป็นโค้งน้ำและมีการสะสมของตะกอนทำให้ทางน้ำแคบและน้ำก็จะไปกัดเซอะตลิ่ง แต่ถ้าขุดลอกเพื่อบำรุงรักษาทางน้ำให้เหมาะสมก็จะลดการกัดเซาะได้ และทำให้นำไหลได้ดีในช่วงหน้าฝน และในการขุดลอกก็ให้เอกชนมาขุดลอกและเอาทรายที่ขุดเป็นค่าต่างตอบแทน

นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้กล่าวก่อนลงเรือเพื่อสำรวจลำน้ำยมว่า ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไรบ้างแต่คงจะต้องดูเป็นจุดๆไป และจะเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกันว่าเราจะมีวิธีการดำเนินการใดได้บ้างในการแก้ไขปัญหาในส่วนของภัยแล้งและน้ำท่วม เท่าที่ผมฟังมาปริมาณน้ำมันเยอะหลายๆครั้งทำให้ประชาชนเดือดร้อน ภัยแล้งเกิดทุกปี แต่ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกับการที่จะต้องกักน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งกับจะต้องปล่อยน้ำให้ไหลไปเรื่อยๆ เรื่องนี้เราต้องมาคำนวณ ต้องมาพิจารณากัน  ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ผู้ว่าฯคนเดียวการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดเป็นเรื่องของประชาชนทั้งจังหวัด หน่วยงานราชการมีหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือในส่วนที่ภาคประชาชนเข้าไม่ถึง ประชาชนคือพระเอก ราชการคือพระรอง เรามาช่วยเติมเต็มในส่วนที่เขาขาดเท่านั้นเอง จะมีการประชุมอีกหลายครั้งในเรื่องนี้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความเห็นกันในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดแพร่

ญาณัจฉรา โชติถนอมกิจ  รายงาน