ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเชียงใหม่ ข่าวเด่น

(มีคลิป) คณะแพทย์มช. แถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี 2566 พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 คณะแพทยศาสตร์ฯ

คณะแพทย์มช. แถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี 2566 พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 คณะแพทยศาสตร์ฯ

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.66 เวลา 10.00 น. ที่ชั้น 15 อาคารสุจิณุโณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำปี 2566 พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ด้วยวิสัยทัศน์ “โรงเรียนแพทย์ในดวงใจเพื่อยกระดับสุขภาวะของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน” ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า

“ในปี 2566 คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับที่ 251-300 ของโลก ด้านการแพทย์ (QS Ranking by Medicine) โดยมีผลงานวิจัยระดับนานาชาติที่ใช้ต่อยอดในการรักษาพยาบาล เพิ่มขึ้นเป็น 800 ฉบับต่อปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ผ่านการประเมินคุณภาพจากองค์กรภายนอก ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย การบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการผ่านการประเมินรับรองคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลขั้นก้าวหน้า (Advanced HA หรือ AHA) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) เป็นครั้งที่ 2 รวมถึงมีกลุ่มโรคที่ผ่านการประเมินรับรองระบบการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค (Disease Specific Certification – DSC เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในปี 2566 มีโรคสำคัญ ที่ผ่านการประเมินนี้เพิ่มขึ้น 5 โรค และอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจ คือ ทีมทรัพยากรบุคคลได้รับรางวัล Thailand HR Innovation Award 2023 ระดับ Silver Award ในโครงการ Modernized Workforce : Empowering Associate Instructors for Unparalleled Impact ซึ่งเป็นโครงการอาจารย์ระบบใหม่ของคณะฯ รวมถึงมี 2 หน่วยงานที่ผ่านการประเมินการสอบเทียบตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ของห้องปฏิบัติการทดสอบ และสอบเทียบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ และผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO/IEC 27001 : 201)

ด้านการวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยชั้นนำด้านสุขภาพหลายศูนย์ เช่น ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย (CMUTEAM) เพื่อการวิจัยเชิงลึกด้านพันธุกรรม, ศูนย์โรค Thalassemia ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยโรคประจำถิ่นของภาคเหนือ, ศูนย์วิจัย Global Health ซึ่งมีความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO Collaboration) ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด, ศูนย์ทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและสมุนไพร โดยในปีที่ผ่านมาศูนย์นี้มีผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวในหญิงวัยหมดประจำเดือน (FROL) และผลิตภัณฑ์ Coffogenic Drink ปลายปี 2566 ศูนย์วิจัยภาวะแวดล้อมและโรคจากการทำงาน (RCEOM) และศูนย์วิจัยพื้นฐานอายุยืนอย่างมีสุข (FLOW) จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพตามพันธกิจหลักของคณะฯ อย่างต่อเนื่อง”

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทรงทอดพระเนตรเยี่ยมศูนย์และกิจกรรมต่าง 1 ที่โดดเด่นของคณะฯ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พวกเราชาวสวนดอกมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

ในด้านของการรักษาภิกษุสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลสงฆ์แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้เปิดดำเนินการมากว่า 5 ปี ขณะนี้มีพระภิกษุสงฆ์มารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสถิติพระสงฆ์ที่เข้ารับการรักษาจำนวนมากกว่า 10,000 รูปต่อปี ในปีนี้มีการต่อยอดการบริการในโครงการ กุฏิชีวาภิบาล ณ วัดศรีโสดา เพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์อาพาธที่วัด โดยมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ ในปี 2566 คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้มีการแถลงข่าวกิจกรรมสำคัญ จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย โครงการแพทย์ทางไกล Telemedicine, ความสำเร็จในการเปลี่ยนตับอ่อนครั้งแรกในภาคเหนือ, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรบำรุงผิวในหญิงวัยหมดประจำเตือน (FROL, ห้องฉุกเฉินระบบdgtal ครบวงจร, ระบบการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย Wheel-B และห้องสวนและตรวจหัวใจ MRI ที่ห้องฉุกเฉินใหม่

ในปีนี้มีการปรับปรุงอาคารต่างๆ ของคณะฯ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณโณ” ซึ่งขณะนี้หลายชั้นได้ดำเนินการปรับปรุงเสร็จแล้ว และคาดว่าจะเสร็จทั้งหมดกลางปี 2567 หลังการปรับปรุงอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณโณ” จะเป็น

อาคารผู้ป่วยที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีการปรับปรุงห้องฉุกเฉินระบu Digtal ครบวงจร พร้อมกับการติดตั้งห้องสวนและตรวจหัวใจ MRI ในห้องฉุกเฉิน การปรับปรุงห้องผ่าตัดชั้น 2 และชั้น 3 รวมถึงห้องคลอด ซึ่งโครงการที่กล่าวมาจะแล้วเสร็จทั้งหมดกลางปีหน้า ส่วนงานปรับปรุงที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย หอผู้ป่วยสังเกตอาการ, ห้องตรวจผู้ป่วยนอกจิตเวช, ห้องแรงดันลบ ณ อาคารนิมมานเหมินทร์, ห้องปลูกถ่ายไขกระดูก, ห้องผ่าชันสูตรศพ, ห้องแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงสวน 60 ปี สวนดอก ที่สร้างความสดชื่นให้กับผู้ป่วยและบุคลากรชาวสวนดอกอีกด้วย

ส่วนโครงการบ้านพักญาติผู้ป่วยสวนดอก ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณ 2 ปี พบว่ามีญาติผู้ป่วยมารับบริการเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อการรับบริการระดับสูงมาก อีกทั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ทำงานประสานงานกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ในโครงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จำนวนหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามคำปฏิญาณของมูลนิธิในการช่วยเหลือสังคมในถิ่นทุรกันดาร

ในส่วนโครงการที่คณะแพทยศาสตร์ มช. จะได้ดำเนินการในปี 2567 สืบเนื่องจากมลภาวะ PM2.5 ทางคณะฯ มีนโยบายที่จะอาคารผู้ป่วยหลวงปู่แหวน “สุจิณโณ” เป็นอาคารนำร่อง ที่ทำระบบปราศจาก PM2.5 ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยโดยเริ่มโครงการที่ชั้น 5 และจะขยายจนครบทุกชั้นในอนาคต

ในโอกาสจะครบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราจะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งคอนเสิร์ตการกุศล “สวนดอกร้อยดวงใจ 65 ปี แพทย์เชียงใหม่” ซึ่งบรรเลงโดยวง Thai Symphony Orchestra ณ สนามฟุตบอล คณะแพทยศาสตร์ มช. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในการก้าวสู่ปีที่ 65 อย่างมั่นคงของเรา จะเป็นไปตามคำสอนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง” ทั้งนี้พวกเราพร้อมก้าวสู่การเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจของประชาชนทุกท่าน

บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ มช. ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ในการเป็นโรงเรียนแพทย์ในดวงใจ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโอกาสครบ 65 ปี ในครั้งนี้”.

https://youtu.be/_UX9UFaRoKs?si=bCUc_60njYEop8RV

ทรงวุฒิ ทับทอง